การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเตว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 June 2024 01:14
- Hits: 8361
การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเตว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเต (ติมอร์) ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (ความตกลงฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมอบหมายเป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน เห็นชอบให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามที่ได้รับมอบหมาย
3. ให้ กต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของความ ตกลงฯ
(จะมีการลงนามความตกลงฯ ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความมั่นคงของติมอร์ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. ติมอร์มีความประสงค์จะจัดทำความตกลงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของไทยและติมอร์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์1 ติมอร์จึงได้เสนอขอจัดทำความตกลงฯ พร้อมกับนำเสนอร่างความตกลงฯ เพื่อขอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อร่างความตกลงฯ และพร้อมลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว
2. ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
ข้อตกลง |
(1) ความตกลงฉบับนี้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยและบุคคลสัญชาติติมอร์เดินทางเข้าดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องมีการขอรับการตรวจลงตรา เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน (2) บุคคลสัญชาติติมอร์ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาเพื่อเดินทางเข้ามาพำนักในไทยด้วยวัตถุประสงค์การท่องเที่ยว ตามระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน จะต้องไม่ทำงานใดๆ ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจการงานส่วนตัวอื่นใดในไทย (3) บุคคลสัญชาติไทยผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาเพื่อเดินทางเข้าและพำนักในติมอร์ด้วยวัตถุประสงค์การท่องเที่ยว ตามระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน จะต้องไม่ทำงานใดๆ ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจการงานส่วนตัวอื่นใดในติมอร์ (4) คู่ภาคีของแต่ละฝ่ายสามารถสงวนสิทธิในการปฏิเสธการเข้าเมือง การลดระยะเวลาพำนักหรือยกเลิกการพำนักของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราภายใต้ความตกลงนี้บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติ การสาธารณสุข ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือการเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา (5) ประเด็นที่ไม่ได้ระบุในความตกลงนี้ให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายภายในของติมอร์และกฎหมายภายในของไทย |
|
การดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง |
(1) คู่ภาคีต้องจัดส่งตัวอย่างหนังสือเดินทางธรรมดาของตนผ่านช่องทางการทูตภายใน 30 วันหลังการลงนามความตกลงฉบับนี้ (2) กรณีที่มีการนำหนังสือเดินทางธรรมดารูปแบบใหม่มาใช้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนังสือเดินทางที่ใช้อยู่ คู่ภาคีต้องแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ และนำส่งตัวอย่างหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่อย่างน้อย 30 วัน ก่อนการเริ่มนำหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่มาใช้อย่างเป็นทางการ (3) ระยะเวลาอายุการใช้งานของหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติของคู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 6 เดือนก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ดินแดนของคู่ภาคีอีกฝ่าย |
|
ผลบังคับใช้ |
มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถูกบอกเลิกโดยคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง |
|
การแก้ไข/ระงับการปฏิบัติ/บอกเลิกความตกลง |
(1) สามารถแก้ไขหรือทบทวนและเพิ่มเติมความตกลงนี้เมื่อใดก็ได้ โดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคี (2) ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือสาธารณสุข โดยการระงับและการเพิกถอนการระงับดังกล่าวจะต้องทำโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า (3) คู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกการใช้บังคับความตกลงฉบับนี้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 90 วัน ไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง |
|
การระงับข้อพิพาท |
ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการอนุวัติหรือการปฏิบัติตามความตกลงนี้ จะได้รับการระงับโดยการเจรจาและปรึกษาหารือระหว่างคู่ภาคี |
3. ประโยชน์ที่ได้รับ: ความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ติมอร์ ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน
4. กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
_________________
หมายเหตุ: 1 แผนงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ (Roadmap for Timor - Leste's Full Membership in ASEAN) ระบุให้ติมอร์จัดทำความตกลงทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่พลเมืองอาเซียนตามแนวทางที่ระบุไว้ในกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (ASEAN Framework Agreement on Visa Exemption)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6557