ขอความเห็นชอบร่างความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 June 2024 01:05
- Hits: 8505
ขอความเห็นชอบร่างความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ร่างความยินยอมร่วมกันฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความยินยอมร่วมกันฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของ คค. โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว
[จะมีพิธีลงนามเอกสารความยินยอมร่วมกันเพื่อต่อยอดผลสำเร็จจากการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนี) ของนายกรัฐมนตรีภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ]
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. แถลงการณ์ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟและระบบขนส่งมวลชนในเมืองภายใต้กลไกคณะทำงานร่วมระบบรางไทย – เยอรมนี และคณะทำงานกลุ่มย่อยตามกิจกรรมความร่วมมือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ด้านการวิจัยและพัฒนา (2) ด้านการประกอบการเดินรถ และ (3) ด้านอุตสาหกรรมระบบราง และมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง |
ขอบเขตความร่วมมือ ทางวิชาการ |
- สนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมระบบราง ผู้ให้บริการเดินรถภายในประเทศ และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ องค์กรที่อยู่ในภาคส่วนของระบบราง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย เช่น การหาความเป็นไปได้ที่จะแลกเปลี่ยน ให้ความรู้ และฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค - สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมระบบรางสำหรับโครงการความร่วมมือในขอบเขตการขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนในเมือง เช่น การสนับสนุนให้มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ระบบรางในประเทศไทยมีความทันสมัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ |
ค่าใช้จ่าย |
แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมฯ ของตนเอง เว้นแต่จะมีการตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายเป็นการล่วงหน้า |
บททั่วไป |
ไม่มีเจตนาให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ |
การมีผลใช้บังคับ ระยะเวลาการสิ้นสุด และการแก้ไข |
- มีผลใช้บังคับในวันที่ทั้งสองฝ่ายลงนาม - แถลงการณ์ร่วมฯ มีอายุ 3 ปี - อาจมีการต่ออายุได้อีกคราวละ 2 ปี ตามความเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร - สามารถแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกได้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร - การสิ้นสุดของแถลงการณ์ร่วมฯ จะไม่กระทบต่อกิจกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว หรือได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายแล้ว |
ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้สิ้นสุดการมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562
2. ต่อมา คค. และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ จำนวน 2 ครั้ง1 ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยและฝ่ายเยอรมนีได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ภายใต้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เช่น
2.1 การจัดตั้งสมาคมระบบรางไทย - เยอรมนี (German – Thai Railway Association: GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สมาคมดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564
2.2 ความร่วมมือทางวิชาการ เช่น (1) การจัดทำหลักสูตรปริญญาโทร่วมสาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัย RWTH Aachen แห่งเยอรมนี และ (2) ความร่วมมือในการแปลตำราทางวิชาการภาษาเยอรมันเป็นตำราภาษาไทยชื่อ “วิศวกรรมเทคโนโลยีระบบราง” (Schienenfahrzeugtechnik) ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2.3 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในหัวข้อ “Interconnectivity of Thai Rail Systems”
ทั้งนี้ คค. เห็นว่า การได้รับสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงความร่วมมือและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมระบบรางภายใต้แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย รวมทั้งมีความสอดคล้องกับนโยบายของไทย ซึ่งการดำเนินการภายใต้แถลงการณ์ร่วมฯ สามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3. เพื่อให้การดำเนินงาน กิจกรรม และโครงการภายใต้การพัฒนาความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คค. จึงเสนอให้มีการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อเนื่องไปอีก 2 ปี (เป็นการต่ออายุครั้งที่ 3) โดยได้ระบุให้ความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2568 โดยให้มีการต่ออายุต่อเนื่องไปโดยอัตโนมัติครั้งละ 2 ปี จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งยกเลิก
4. คค. เห็นว่า ร่างความยินยอมร่วมกันฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานกิจกรรมและโครงการภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงความร่วมมือและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย โดยไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายในระดับรัฐบาล จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างความยินยอมร่วมกันฯ ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งเยอรมนี มีสาระสำคัญเป็นการแสดงความเห็นชอบร่วมกันที่จะต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อเนื่องไปโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาครั้งละ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 อันเป็นการดำเนินการตามข้อ 5 (2) ของแถลงการณ์ร่วมฯ โดยสาระสำคัญของความร่วมมือยังคงเป็นเช่นเดิมตามที่กำหนดไว้ในแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่มีเจตนาให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กรณีจึงต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการต่อไป
____________________
1 (1) การต่ออายุครั้งที่ 1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 โดยให้ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
(2) การต่ออายุครั้งที่ 2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดยให้ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รองนายกรัฐมนตรี) 18 มิถุนายน 2567
6556