ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 19:13
- Hits: 8043
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ เป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง ตำบลเขาขี้ฝอย ตำบลทัพทัน ตำบลทุ่งนาไทย และตำบลหนองกลางดง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาและดำรงรักษาพื้นที่เพื่อให้เป็นชุมชนศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม ด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน รวมทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการบริการในระดับอำเภอ โดยได้มีการกำหนดแผนผังและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมจำแนกออกเป็น 9 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะกิจการที่ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นๆ รวมทั้งกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการในที่ดินแต่ละประเภท ตลอดจนกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงที่โล่ง และกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง รวมทั้งกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง ตำบลเขาขี้ฝอย ตำบลทัพทัน ตำบลทุ่งนาไทย และตำบลหนองกลางดง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.1 ส่งเสริมเพื่อให้เป็นชุมชนศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม
1.2 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.3 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน
1.4 ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการบริการในระดับอำเภอ
1.5 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
- เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเบาบาง เพื่อรองรับการขยายตัวของย่านพักอาศัยในอนาคต รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ให้มีองค์ประกอบที่จำเป็นต่อชุมชนพักอาศัย ซึ่งกำหนดให้สามารถสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยได้ในหลายประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดอาคาร ซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ยกเว้นที่ดินในบริเวณหมายเลข 1.3 และหมายเลข 1.4 และกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน ได้แก่ คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่าย คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า โรงฆ่าสัตว์ การกำจัดมูลฝอย สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การคั่ว บดหรือป่นกาแฟ หรือการทำกาแฟผง การทำน้ำดื่ม การทำน้ำแร่ การทำยานัตถุ์ การทำผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอเป็นเครื่องใช้ในบ้าน โรงงานซักรีด ซักแห้ง ซักฟอก รีด อัดหรือย้อมผ้า เครื่องนุ่งห่ม พรม หรือขนสัตว์ เป็นต้น |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) | - เป็นพื้นที่บริเวณชุมชนต่อเนื่องกับพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรองรับการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรมซึ่งกำหนดให้สามารถสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารชุด หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดอาคารซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ และกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยและชุมชน ได้แก่ คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่ายคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าโรงฆ่าสัตว์ ไซโลเก็บผลิตผลทางการเกษตร การกำจัดมูลฝอย ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การคั่ว บด หรือป่นกาแฟหรือการทำกาแฟผง การตบแต่งหรือเย็บปักถักร้อยสิ่งทอ โรงงานซ่อมรองเท้าหรือเครื่องหนัง การล้างหรืออัดฉีดยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ เป็นต้น | |
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) | - เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและการบริการชุมชนเพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การบริการที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น ตลาด ร้านค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน รวมทั้งกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าว และการอยู่อาศัยในเขตชุมชน ซึ่งที่ดินประเภทนี้เฉพาะในบริเวณหมายเลข 3.1 มีข้อจำกัดให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการใดๆ ได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร เว้นแต่การอยู่อาศัยหรือประกอบพาณิชยกรรมหรือประกอบอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนของข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่าย คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว สุสานและฌาปนสถาน จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า โรงฆ่าสัตว์ การกำจัดมูลฝอย ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การทำผลิตภัณฑ์จากผ้าใบ การตบแต่งหรือเย็บปักถักร้อยสิ่งทอ โรงงานซ่อมเครื่องมือไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับใช้ในบ้าน หรือใช้ประจำตัว เป็นต้น | |
4. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน) | - เป็นพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตซึ่งเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม โดยมีการควบคุมและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเน้นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร พืชพลังงาน อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริการชุมชนเป็นหลัก เช่น การเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในไซโลโกดัง หรือคลังสินค้า การผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเมล็ดพืชหรือหัวพืช โรงงานจัดหาน้ำ ทำน้ำให้บริสุทธิ์ หรือจำหน่ายน้ำไปยังอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น และกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อคลังสินค้า โดยกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ไว้ เช่น โรงแรม สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงคนชรา สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น | |
5. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) | - กำหนดให้เป็นพื้นที่กันชนระหว่างย่านที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นหลัก เช่น การทำสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งที่ดินประเภทนี้ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ เช่น คลังน้ำมันเพื่อการจำหน่าย คลังก๊าซปิโตเลียมเหลว โรงแรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย โดยในส่วนของโรงงานที่กำหนดให้ดำเนินการได้ เช่น การกะเทาะเมล็ดหรือเปลือกเมล็ดพืช การฆ่าสัตว์ การสี ฝัด หรือขัดข้าว การปอกหัวพืช หรือทำหัวพืชให้เป็นเส้น แว่น หรือแท่ง การทำน้ำเชื่อม การทำใบชาแห้งหรือใบชาผง โรงงานห้องเย็น เป็นต้น | |
6. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) | - เป็นพื้นที่โล่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนไว้เป็นที่โล่งสำหรับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณประโยชน์ กรณีที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ ได้แก่ สวนเทิดพระเกียรติ สวนสาธารณะสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ชุมพร สำหรับกรณีที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับพื้นที่ ได้แก่ ที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับริมฝั่งคลองลำพัน ที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับริมฝั่งแม่น้ำหลังสวน ที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับริมฝั่งห้วยปากท่านา ที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ20 เมตร กับริมฝั่งคลองหนองหิน ที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับริมฝั่งคลองหมาจันทร์ กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ซึ่งมิใช่การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรมที่ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์และมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคาร ซึ่งต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ | |
7. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น โรงเรียนเมืองหลังสวน วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน โรงเรียนวัดวิเวการาม เป็นต้น | |
8. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัดเสกขาราม วัดวิเวการาม วัดขันเงิน เป็นต้น | |
9. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) | - มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันราชการ การดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลหลังสวน ศาลจังหวัดหลังสวน หมวดการทางหลังสวน สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหลังสวน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองหลังสวน เป็นต้น |
3. กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
4. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงที่โล่ง ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
4.1 ที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ลน.) เป็นพื้นที่บริเวณเขานาค เขาขี้ฝอย สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำเทศบาลตำบลทัพทัน เขาแหลมและเขาโคกโค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทไว้ในบริเวณนั้น
4.2 ที่โล่งเพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ (ลร.) เป็นพื้นที่ในบริเวณแนวขนานระยะ 10 เมตร กับริมฝั่งห้วยขมิ้น ฝั่งใต้ และที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 20 เมตร กับริมฝั่งแม่น้ำตากแดด ฝั่งใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทไว้ในบริเวณนั้น ซึ่งกำหนดไม่ให้มีการถมดิน ก่อสร้างหรือดำเนินการใดๆ ในที่ดินอันเป็นการลดประสิทธิภาพของการระบายน้ำตามธรรมชาติ
4.3 ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ลส.) เป็นพื้นที่บริเวณหนองโคกหม้อ (ล่าง) หนองหญ้าปล้อง หนองสำนักโก และหนองเขาขี้ฝอย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นการรักษาสภาพภูมิทัศน์ที่ดีของชุมชนหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทไว้ในบริเวณนั้น ซึ่งกำหนดไม่ให้กระทำการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
5. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ก 5 ถนนสาย ข 1 ถนนสาย ข 2 ถนนสาย ข 3 ถนนสาย ค และถนนสาย ง ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น นอกจากกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
5.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
5.2 การสร้างรั้วหรือกำแพง
5.3 เกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตรหรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
6. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณโครงการคมนาคมและขนส่งประเภท คข. (สีส้มลายตาราง) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทไว้ในบริเวณนั้น
7. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เพื่อส่งเสริม ปรับปรุง และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสม เพียงพอกับการให้บริการและได้มาตรฐาน รวมถึงสามารถรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตได้ ซึ่งกำหนดให้เป็นโครงการกิจการสาธารณูปโภคประเภท สบ. (สีม่วงลายจุด) จำนวน 1 บริเวณ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่เพื่อการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทไว้ในบริเวณนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6364