รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 18:36
- Hits: 8026
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการถอนข้อสงวนข้อ 221 เกี่ยวกับเรื่องสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงของอนุสัญญาฯ เพื่อส่งเสริมการดำเนินการของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ตั้งข้อสงวนไว้ 3 ข้อ เพื่อยกเว้นการดำเนินการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในข้อนั้น ได้แก่ 1) ข้อ 7 ว่าด้วยสถานะบุคคล 2) ข้อ 22 ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ 3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา ซึ่งต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และข้อ 7 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ตามลำดับ ปัจจุบันคงเหลือเพียงข้อสงวนข้อ 22 และถือเป็นรัฐภาคีประเทศสุดท้ายที่ยังคงข้อสงวนข้อนี้
2. กสม. เห็นว่า การไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักการสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้ในข้อ 2 ของอนุสัญญาฯ โดยรัฐภาคีจะต้องเคารพและประกันสิทธิของเด็กทุกคนที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐภาคีนั้นโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติหรือสถานะอื่นๆ รวมถึงสถานะการเข้าเมือง การเป็นผู้ลี้ภัยหรืออยู่ในสถานการณ์เฉกเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัย ดังนั้น การที่ประเทศไทยยังคงข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไว้ จะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายดูแลเด็กผู้ลี้ภัยหรือเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เฉกเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตอำนาจของไทย ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นเด็กกลุ่มอื่นในประเทศ อันไม่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อคณะรัฐมนตรี
3. คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 มกราคม 2567) รับทราบข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ตามที่ กสม. เสนอ และมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า ได้รวบรวมความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กต. มท. สมช. และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 เป็นกรรมการ และเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าวตามข้อ 3 แล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของกสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ประเทศไทยควรถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ โดยเร็ว เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์และยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่โดยเฉพาะหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาฯ รวมถึงหลักการไม่ผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย |
- ประเทศไทยมีมาตรการและกลไกที่เพียงพอที่จะรองรับพันธกรณีภายใต้ ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เนื่องจากเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิบนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติและประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวนของอนุสัญญาฯ และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติได้เห็นชอบการถอนข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ด้วยแล้ว - การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ2 ไม่เป็นการผูกมัดให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี เนื่องจากข้อ 22 ของอนุสัญญาฯกำหนดให้ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องให้การคุ้มครองต่อเด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการระหว่างประเทศหรือภายในที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายใต้สนธิสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้วเท่านั้น - การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ได้เคยปรากฏในข้อเสนอแนะภายใต้กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 2 ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยรับทราบแล้ว และล่าสุดการถอนข้อสงวนฯ ได้เป็นหนึ่งในคำมั่นที่ประเทศไทยประกาศในการประชุม Global Refugee Forum ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2566 ณ นครเจนีวา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เห็นชอบร่างคำมั่นฯ แล้ว |
|
2. ควรประกันว่า การกำหนดความหมายของ “เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง” ในกรอบกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยจะไม่ตัดสิทธิของเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการได้รับความคุ้มครองตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เช่น ไม่ควรกำหนดข้อยกเว้นกลุ่มเด็กที่เข้าข่ายคนต่างด้าวที่ มท. มีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรับรองเป็นการเฉพาะ หรือกลุ่มเด็กที่เข้าข่ายแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรับรองเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ การคัดกรองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ควรอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ในประเทศที่เด็กจะถูกส่งตัวไป ว่าจะทำให้เด็กได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือไม่เป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติและวัตถุประสงค์ของข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิให้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางต่างๆ |
- แนวทางการดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ได้ระบุประเด็นคำนิยามและคำจำกัดความของเด็กตามอนุสัญญาฯ ข้อ 22ว่า 1. คำนิยาม ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไม่ได้กำหนดคำนิยามของคำว่าเด็กลี้ภัย ซึ่งแต่ละประเทศสามารถกำหนดคำนิยามได้ตามกรอบกฎหมายภายในประเทศ โดยประเทศไทยเรียกว่า เด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ 2. คำจำกัดความ เด็กลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย อายุไม่ถึง 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้น ตามกฎหมายที่ใช้บังคับแต่เด็กนั้น ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาโดยมีเหตุอันจะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร โดยจำแนกเด็กลี้ภัยในประเทศไทยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 2.1 เด็กผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ซึ่งได้รับการคุ้มครองและดูแลโดย มท. ซึ่งได้อนุญาตให้องค์การระหว่างประเทศและองค์การนอกภาครัฐเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและให้บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ แก่เด็กกลุ่มนี้ด้วยแล้ว 2.2 เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงในเมือง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 โดยระเบียบฯ ดังกล่าว ได้มุ่งคุ้มครองเด็กที่มีสถานะเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงสิทธิการศึกษาและบริการสาธารณสุขโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด - การดำเนินการของภาครัฐให้การดูแลเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงเด็กที่หนีภัยการประหัตประหารและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้โดยดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสม เช่น เด็กที่เข้าข่ายคนต่างด้าวที่ มท. ได้กำหนดมาตรการดูแลเป็นการเฉพาะ เด็กแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดมาตรการเป็นการเฉพาะ และเด็กต่างด้าวที่ได้รับการดูแลตามระเบียบฯ ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลเด็กกลุ่มต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ - สรุป การกำหนดความหมายของ “เด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง” ในกรอบกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยไม่ได้จำกัดสิทธิของเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการได้รับความคุ้มครองตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ โดยได้มีมาตรการที่เหมาะสมในการรองรับเด็กแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก |
_______________________
1 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 22 กำหนดให้
1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดามารดาของเด็กหรือบุคคลอื่นติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรม ซึ่งรัฐดังกล่าวเป็นภาคี
2. เพื่อวัตถุประสงค์นี้ รัฐภาคีจะให้ความร่วมมือตามที่พิจารณาว่าเหมาะสมแก่ความพยายามใดๆ ของทั้งองค์การสหประชาชาติและองค์การระดับรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่ระดับรัฐบาลอื่นที่มีอำนาจ ซึ่งร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเช่นว่า และในการติดตามหาบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นของครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัวของเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถค้นพบบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัว เด็กนั้นจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเด็กที่ถูกพรากจากสภาพครอบครัว ทั้งที่เป็นการถาวรหรือชั่วคราวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดังเช่นที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญานี้
2หมายเหตุ : พม. ได้เสนอเรื่อง การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแล้วขณะนี้อยู่ระหว่าง สลค. จัดทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6359