(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 18:27
- Hits: 8090
(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) [(ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรังปรุงช่วงที่ 1] และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงานรวมถึงแผนปฏิบัติการ รวมทั้งจัดทำรายละเอียดเป้าหมายรายลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1 ทั้งนี้ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) (แผนแม่บทฯ ฉบับเดิม) อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ พบว่า สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในช่วง 5 ปีแรกของแผนแม่บทฯ ฉบับเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น สถานการณ์โควิด – 19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ ดังนั้น สทนช. จึงได้ดำเนินการทบทวนแผนแม่บทฯ ฉบับเดิม และจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) [(ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1] (ข้อเสนอในครั้งนี้) เพื่อให้การดำเนินการในช่วง 15 ปี ต่อไป สามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายในช่วง 5 ปี ถัดไป (ปี 2566 – 2570) ที่ได้มีการปรับเป้าหมายในช่วงเวลาต่างๆ ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการจริงที่ผ่านมา หรือเป็นไปตามความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นเส้นแนวฐาน (baseline) ของการดำเนินการของ สทนช. และหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
สาระสำคัญ
1. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1 แล้ว โดย (ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1.1 หลักการและแนวคิดในการปรับปรุง (ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1 เช่น
1.1.1 ลดช่องว่างปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด ที่ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
1.1.2 ทบทวน ปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าตั้งต้นการประเมิน (Base Line) ค่าเป้าหมายของแต่ละกลยุทธ์ แผนงาน ให้มีผลสะท้อนกับตัวชี้วัดของแผนระดับที่ 2 และ SDGs รวมถึงทบทวนกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
1.1.3 เพิ่มเติมหรือปรับปรุงแผนงาน/แผนงานย่อย โดยการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในอนาคต
1.1.4 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหน่วยงานราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
1.2 วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลและมีพลวัต เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติ”
1.3 เป้าหมายในภาพรวม 6 ประการ มีดังนี้
1.3.1 ประชาชนทั้งในเมืองและชนบท มีน้ำอุปโภคและน้ำดื่มเพียงพอ ได้มาตรฐานสากลในราคาที่เหมาะสม มีการประหยัดน้ำทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน และท้องถิ่น
1.3.2 สามารถจัดหาน้ำเพื่อการผลิต (เกษตร อุตสาหกรรม) ได้อย่างสมดุลระหว่างศักยภาพกับความต้องการ มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ผลิตภาพสูงขึ้น รวมทั้งสามารถจัดหาน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้เพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตรในฤดูฝน
1.3.3 มีระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งโครงสร้างและการบริหารจัดการ มีผังการระบายน้ำทุกระดับ การบริหารพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ
1.3.4 ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟู สามารถชะลอการไหลบ่าของน้ำ มีการใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำตามผังที่กำหนด มีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน ทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่เกษตร
1.3.5 การฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ชุมชนขนาดใหญ่ มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม มีการจัดการโดยการป้องกันและลดน้ำเสียที่ต้นทาง ป้องกันน้ำเค็มและการกัดเซาะปากแม่น้ำในพื้นที่เฉพาะ
1.3.6 มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีธรรมาภิบาลทันสมัย มีกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ มีโครงสร้างองค์กรเหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ สามารถบริหารจัดการตามแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติการ ระบบ และกลไกการจัดสรรน้ำ รวมทั้งมีระบบฐานข้อมูล ทรัพยากรมนุษย์และงานวิจัยเพียงพอในการตัดสินใจและบริหารจัดการ
1.4 (ร่าง) แผนแม่บทฯ ปรับปรุงช่วงที่ 1 ประกอบด้วย 5 ประเด็น 24 กลยุทธ์ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นและกลยุทธ์ |
ตัวอย่างเป้าหมายปี 2566 – 2580 |
ตัวอย่างตัวชี้วัด |
||
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค |
||||
(1) พัฒนา/ขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน และจัดหาน้ำสะอาดให้ครัวเรือนที่ไม่มีประปา (2) พัฒนาระบบประปาเมือง/พื้นที่เศรษฐกิจ [พื้นที่การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เทศบาลนคร เทศบาลเมือง] (3) พัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมและให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปา (4) ประหยัดน้ำในทุกภาคส่วน (ลดการใช้ในภาคครัวเรือน ภาคบริการ และภาคราชการ) |
- ปรับปรุงประปาให้เป็นประปาน้ำสะอาด จำนวน 18,766 แห่ง - กปน. เพิ่มกำลังผลิตประปา 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน - กปภ. เพิ่มกำลังผลิตประปา 1.28 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน - จัดทำค่ามาตรฐานอัตราการใช้น้ำภายใน 2 ปี |
(1) สัดส่วนการเข้าถึงน้ำประปา (ครัวเรือนที่เข้าถึง/ครัวเรือนทั้งหมด) (2) สัดส่วนการเข้าถึงน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน (ครัวเรือนที่เข้าถึงน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน/ครัวเรือนทั้งหมด) |
||
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กปน. กปภ. |
||||
ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต |
||||
(1) จัดการความต้องการใช้น้ำ โดยบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุน และลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม (2) เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม โดยปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดใหญ่/กลาง/เล็ก และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในโครงการแหล่งน้ำเดิม (3) จัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน โดยพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน (4) พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่/ระบบผันน้ำ เพื่อให้เกิดการจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการ (5) เพิ่มผลิตภาพมูลค่าภาคการผลิต โดยให้มีโครงการนำร่อง เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ (6) เพิ่มต้นทุนน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตรโดยฝนหลวง |
- ลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ได้ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี - เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำฤดูแล้ง 1,050 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1.50 ล้านไร่ - เสริมระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำเดิมจำนวน 20 แห่ง ปริมาณน้ำ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร |
(1) ผลิตภาพจากการใช้น้ำ - ภาคการเกษตร (พื้นที่นอกเขตและพื้นที่ในเขตชลประทาน) - ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ (GDP/ลูกบาศก์เมตร) (2) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยแล้งลดลง |
||
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น กรมชลประทาน อปท. กรมโรงงานอุตสหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
||||
ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย |
|
|
||
(1) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ (2) ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง โดยการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง (3) จัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ (4) สนับสนุนการปรับตัวและเผชิญเหตุอุทกภัย (5) ปรับปรุงเขื่อนเพื่อเพิ่มการระบายน้ำรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ |
- กำจัดวัชพืชและขยะมูลฝอยในแม่น้ำสายหลัก/สาขาและแหล่งน้ำปิดไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านตัน/ปี - ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 1,500 กิโลเมตร - จัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเขื่อนแตก/ระบายน้ำฉุกเฉิน และซ้อมหนีภัย |
(1) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อรอบปีการเกิดซ้ำ (2) สัดส่วนผู้เสียชีวิต/สูญหาย/ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำต่อประชากรรวมต่อรอบปีการเกิดซ้ำ |
||
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า อปท. กรุงเทพมหานคร |
||||
ด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ |
||||
(1) อนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม (2) ป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ (3) เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม และการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ (4) จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและจัดทำแผนหลักป้องกันน้ำเค็ม/การกัดเซาะปากแม่น้ำในพื้นที่เฉพาะ (5) อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ |
- ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 525,000 ไร่ (ป่าสงวน/เขตอนุรักษ์) - ปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียเดิม 112 แห่ง - ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ 18,250 ไร่ - ปริมาณน้ำเสียที่ได้รับการบำบัด 730 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี - จัดทำฐานข้อมูลลำน้ำ และแหล่งน้ำทั่วประเทศ พร้อมสถานการณ์ปัจจุบันภายใน 2 ปี |
(1) River Flow Management Index1 (2) สัดส่วนน้ำเสียที่เข้าระบบรวบรวมและบำบัดต่อปริมาณน้ำเสียทั้งหมด (3) ดัชนีความสมบูรณ์ของแม่น้ำ River Health Index2 (Composite indicator แหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล) (4) สัดส่วนการนำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ |
||
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง อปท. |
||||
ด้านที่ 5 การบริหารจัดการ |
||||
(1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยการจัดทำ/ทบทวนระเบียบ ข้อบังคับด้านทรัพยากรน้ำ มีการติดตาม/ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง (2) ส่งเสริม/พัฒนาองค์กรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ/ กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรน้ำ และเสริมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์นโยบาย/เเผนแม่บทฯ ตลอดจนบูรณาการการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (3) จัดทำเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พัฒนาระบบตรวจวัดและฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำ จัดทำผังน้ำและผังการระบายน้ำและส่งเสริมงานวิจัยเทคโนโลยี ตลอดจนนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (4) การจัดทำงบประมาณประจำปี โดยมีการใช้งบประมาณและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ |
- ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง 6,000 หมู่บ้าน - สร้างต้นแบบชุมชนเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) 60 ชุมชน - สำรวจข้อมูลระบบประปาปัจจุบัน เช่น อายุ กำลังผลิต แหล่งน้ำดิบ ครัวเรือนผู้ใช้น้ำ และคุณภาพน้ำภายในระยะเวลา 2 ปี - มีงบประมาณดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่วางไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 |
(1) มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกระดับ (2) ระดับความสำเร็จของการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี |
||
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น สทนช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) อปท. |
2. การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและติดตามประเมินผล
2.1 การถ่ายทอดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติลงสู่แผนแม่บท/แผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ
2.2 การจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องสภาพปัญหา เหมาะสมกับงบประมาณ พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการดำเนินการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำในชุมชนและการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (Area based) รวมถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาในระดับต่างๆ
2.3 การเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อน โดยให้หน่วยงานอำนวยการขับเคลื่อน หน่วยงานปฏิบัติหลัก หน่วยงานปฏิบัติสนับสนุน กำหนดรายละเอียดการดำเนินการโครงการกรอบระยะเวลาและการติดตามประเมินผล
2.4 การจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการ มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณเป็นรายลุ่มน้ำ ตามสภาพปัญหาและประเด็นการพัฒนาของลุ่มน้ำที่มีความแตกต่างกัน เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดสรรกรอบวงเงินรายจังหวัด ให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรวบรวมและกลั่นกรองโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน มีความพร้อมตามกรอบแผนงาน และตามกรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรร
2.5 การติดตามประเมินผล มีการดำเนินงานโครงการภายใต้กรอบแผนงบประมาณต่างๆ ดังนี้ (1) ภารกิจพื้นฐาน (Function) (2) ภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ (Agenda) (3) ภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (Area) (4) งบกลาง และ (5) เงินกู้ เพื่อสรุปผลการดำเนินการของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ให้สามารถแสดงผลที่ได้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และ SDGs
3. ประโยชน์ตามประเด็นแผนแม่บทด้านต่างๆ
3.1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการน้ำอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน (เดิมและใหม่) 32,701 แห่ง 7.2 ล้านครัวเรือน จัดหาน้ำสำรอง 174.13 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มกำลังผลิตประปา 2.88 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน
3.2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อรองรับเป้าหมายการพัฒนาการเศรษฐกิจ ลดความเสียหาย/เพิ่มรายได้ในพื้นที่เกษตร/เพิ่มผลิตในพื้นที่ที่มีน้ำมั่นคงแล้ว มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 2,739 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 5.12 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ 4,505 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 4.66 ล้านไร่
3.3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สิน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ปรับปรุงลำน้ำสายหลัก 1,978.14 กิโลเมตร ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 380 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกัน 779,985 ไร่ การจัดการพื้นที่น้ำท่วมลดน้ำหลาก 1,704 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนการปรับตัวและเผชิญเหตุ 37 ลุ่มน้ำสาขา การปรับปรุงเขื่อนเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ
3.4 การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความสมดุล ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการ ขับเคลื่อนองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับนโยบาย มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญในระยะ 20 ปี ได้แก่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 1.375 ล้านไร่ ลดการชะล้างพังทลายของดิน 2.65 ล้านไร่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย (เดิม/ใหม่) 759 แห่ง อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ
3.5 การบริหารจัดการ ขับเคลื่อนองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับนโยบายและพื้นที่ กฎหมาย ระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยี ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อยกระดับการจัดการน้ำในพื้นที่และลุ่มน้ำ เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาใน 4 มิติแรก และให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
______________________
1 ดัชนีการจัดการการไหลในแม่น้ำ คือ การเปลี่ยนแปลงการไหลในแม่น้ำโดยทำการจำลองด้วยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์
2 ดัชนีสุขภาพของแม่น้ำ หรือ ค่า RHI เป็นค่าที่ได้มาจากการคำนวณปัจจัยต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำ สภาพภูมิอากาศ การเจริญเติบโตของประชากร การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นต้น แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองเพื่อประเมินคุณภาพของแม่น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6358