สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 17:14
- Hits: 8057
สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 เห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการและแผนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ให้ถือเป็นภารกิจสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ตั้งงบบประมาณรองรับให้เหมาะสม
คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่อง การเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ประชาชนให้สามารถเดินทางอย่างคล่องตัวและปลอดภัยตลอดจนจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอและบริหารจัดการการจราจรและการใช้เส้นทางต่างๆ ให้เกิดความเรียบร้อย เหมาะสม และอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง การจราจร และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวตลอดช่วงเทศกาลดังกล่าว
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่อง การเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เพิ่มเติม) โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติมต่างๆ ได้แก่ ประสานงาน วางแผน และปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแล อำนวยการความสะดวกในช่วงเทศกาลสงกรานต์เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด จัดเตรียมรถโดยสารให้เพียงพอ การบริหารจัดการการจราจร การรณรงค์ “ห้ามดื่มแล้วขับ” และการอำนวยความสะดวกและความเรียบร้อยของสถานที่จัดกิจกรรม
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 เสร็จเรียบร้อยแล้ว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 (รวม 7 วัน)
จำนวนครั้งการเกิดดอุบัติเหตุ (ครั้ง) |
จำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) (คน) |
จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) |
2,044 |
2,060 |
287 |
การดำเนินงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง มีผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนด ประกอบด้วย
(1) การเกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง ลดลงร้อยละ 5.44 ผู้บาดเจ็บ (admit) 2,060 คน ลดลงร้อยละ 3.95 ผู้เสียชีวิต 287 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13
(2) การเกิดอุบัติเหตุใหญ่ 29 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.29
(3) การเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 150 ราย ลดลงร้อยละ 1.32
(4) ผู้เสียชีวิตจากพฤติกรรมเสี่ยงหลัก ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.72 ดื่มแล้วขับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.54 ไม่สวมหมวกนิรภัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.13 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ลดลงร้อยละ 4.55 และขับรถย้อนศร เพิ่มขึ้นร้อยละ 125
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 พบว่า มีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าในช่วงปกติ โดยจากข้อมูลสถิติการเดินทางของกรมทางหลวง พบว่า ปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งขาเข้า - ขาออก เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 และจากข้อมูลสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า พื้นที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 (ขนาดใหญ่) เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และพื้นที่จัดงาน ที่หน่วยงานแจ้งในภาพรวม เพิ่มขึ้น 20 เท่า จากเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ทั้งนี้จากการดำเนินงาน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 (7 วัน) สถิติในภาพรวมจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ และผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลง เป็นผลจากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และในระดับพื้นที่มีการดำเนินการมาตรการเชิงรุกโดยให้ท้องที่และท้องถิ่น ร่วมกับอาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน จัดตั้ง “ด่านชุมชน” “ด่านครอบครัว” และการเคาะประตูบ้าน เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แต่เมื่อพิจารณาจำนวนสถิติผู้เสียชีวิต และอุบัติเหตุใหญ่พบว่า มีสถิติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด และขับรถย้อนศร รวมทั้งการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งมีดัชนีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นยานพาหนะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนตลอดทั้งปี โดยได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน ดังนี้
1. ให้กระทรวงคมนาคมส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากการใช้ยานพาหนะบนท้องถนนเป็นการเดินทางทางอากาศให้มากขึ้น จูงใจด้วยการเพิ่มเที่ยวบิน และลดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม เพื่อลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลบนท้องถนนและระยะเวลาการเดินทาง ตลอดจนลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งขาติ เชื่อมโยงข้อมูลผู้กระทำความผิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีพบว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำ ให้พนักงานสอบสวนนำข้อมูลการกระทำผิดซ้ำประกอบพยานหลักฐานทางกฎหมาย และดำเนินการแจ้งพนักงานอัยการเพื่อเพิ่มโทษตามกฎหมาย รวมทั้งให้พิจารณาจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงหรือนำเทคโนโลยีมาเชื่อมข้อมูลผู้กระทำความผิด
3. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในการบังคับใช้กฎหมายให้เพียงพอ กรณีดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด อาทิ เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ กล้องตรวจจับความเร็วแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น
4. ให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนองค์ความรู้และการให้ความรู้ด้านการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดและพื้นที่ เพื่อการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล และการเลือกมาตรการแก้ปัญหา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6353