WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566

Gov 49

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ 

          สาระสำคัญ 

          สศช. ได้เสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2566

              1.1 ด้านแรงงาน

                    สถานการณ์แรงงานขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น และการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

สรุปสถานการณ์

การจ้างงาน

 

ภาพรวมการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 1.0) และนอกภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 2.0) โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.0 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ชั่วโมงการทำงาน

 

ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับ1 และผู้เสมือนว่างงาน2 ที่ลดลงร้อยละ 23.6 และ 6.8 ตามลำดับ โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1) และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2) ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ค่าจ้างแรงงาน

 

ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 14,095 บาท/คน/เดือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9) ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาท/คน/เดือน (ลดลงร้อยละ 0.2)

อัตราการว่างงาน

 

มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 330,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.81 โดยผู้ว่างงานลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อนที่ร้อยละ 31.1 และ 26.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ว่างงานระยะยาวยังลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 46.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและต้องติดตาม

 

เช่น ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI เป็นต้น

 

              1.2 ด้านหนี้สินครัวเรือน

                    ไตรมาสสามของปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.9 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน (ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล) ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อโดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.79 ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.71 ในไตรมาส

                    ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ เช่น การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ4 และการติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

              1.3 ด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย

                    ไตรมาสสี่ ปี 2566 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงถึงร้อยละ 170.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงที่สุด (เพิ่มขึ้น 6 เท่า เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการระบาดอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสาม)

                    ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช และโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยที่ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวมทั้งผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษทางอากาศ มีจำนวน 10.5 ล้านราย (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.6)

              1.4 ด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

                    ไตรมาสสี่ ปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 แบ่งเป็นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.7 สำหรับภาพรวมปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการฟื้นตัวของการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                    ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจที่อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักดื่มมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการสูบบุหรี่ที่อาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกันโรคของผู้สูบบุหรี่ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย

              1.5 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

                    ไตรมาสสี่ ปี 2566 มีการรับแจ้งคดีอาญารวมทั้งสิ้น 100,996 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.5 เนื่องจากการลดลงของคดียาเสพติด ร้อยละ 16.7 ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีชีวิตร่างกาย และเพศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 และ 15.1 ตามลำดับ ด้านการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 11.4 โดยเป็นการลดลงของผู้เสียชีวิตร้อยละ 13.9 ผู้บาดเจ็บร้อยละ 11.4 และผู้ทุพพลภาพร้อยละ 23.8

                    ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การถูกกลั่นแกล้ง (Bully) ในสถานศึกษา และการใช้โปรแกรม AI สร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

                    ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

                    ไตรมาสสี่ ปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนลดลงร้อยละ 15.2 โดยเป็นการร้องเรียนด้านฉลากสินค้าสูงที่สุด ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนลดลงร้อยละ 14.1 โดยส่วนใหญ่ยังคงมาจากบริการของกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับปี 2566 การร้องเรียนโดยรวมเพิ่มร้อยละ 42.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก สคบ. โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการและผู้ประกอบการ

                    ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม (เช่น ราคาค่าบริการรายเดือน ปัญหาคุณภาพสัญญาณ) และสินค้าปลอมและสินค้าไม่ได้มาตรฐานระบาดในท้องตลาด เป็นต้น

          2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

 

สถานการณ์

 

รายละเอียด

Influencer : 

เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ

 

ประเทศไทยมีจำนวน Influencer กว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800 - 700,000 บาท ขึ้นไปต่อโพสต์การแข่งขันผลิต Content และการให้ความสำคัญกับ Engagement ของ Influencer จะเน้นการสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง การละเมิดสิทธิและการสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่ม Influencer อย่างชัดเจน โดยแนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน/แก้ไข ซึ่งอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป

การกระทำผิดของเด็ก

(Juvenile Delinquency) :

เจาะเหตุพฤติกรรมเพื่อป้องกันความรุนแรง

 

ปีงบประมาณ พ.. 2566 เด็กและเยาวชนก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ..2562 ถึงร้อยละ 58.7 ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยสาเหตุ/ปัจจัยที่เด็กและเยาวชนก่อความรุนแรง แบ่งออกได้เป็น 5 ปัจจัย คือ

(1) ความเปราะบางของสถาบันครอบครัวจากการได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

(2) สังคมเพื่อนที่ไม่ดีและการถูกบูลลี่

(3) การอยู่อาศัยในแหล่งชุมชนที่มีปัญหา โดยเฉพาะแหล่งที่มีการซื้อขายยาเสพติด

(4) การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย อาทิ กลุ่มสังคมออนไลน์ที่ผิดกฎหมายหรือที่มีเนื้อหารุนแรง

(5) อาการทางจิตเวชหรือการใช้ยาเสพติด

ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม (ครอบครัว สถาบันการศึกษา และชุมชน) และการคัดกรองสุขภาพจิตในเด็กและเยาวซนอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง เป็นต้น

เพิ่มประสิทธิภาพข้าวไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

 

ข้าวถือเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่ชาวนากลับเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอนและมีปัญหาความยากจน รวมทั้งยังเป็นอาชีพที่รัฐอุดหนุน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในหลายด้าน ได้แก่

(1) ด้านราคา จากราคาข้าวที่มีความผันผวน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ รวมทั้งบางส่วนยังถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ

(2) ด้านต้นทุน จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างปี 2563-2565 พบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ต่อปี โดยเฉพาะปุ๋ยที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยปี 2565 ราคาปุ๋ยสูตรสำคัญเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.4 เท่า ขณะที่การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังมีปัญหาเนื่องจากไม่สามารถควบคุมคุณค่าทางธาตุอาหาร รวมทั้ง ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ

(3) ด้านผลผลิต โดยผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยอยู่ในระดับต่ำในปีเพาะปลูก 2564/2565 โดยผลผลิตต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 311 กิโลกรัม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกกว่า 1.5 เท่า และระหว่างปี 2556-2565 ผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีสาเหตุ เช่น การขาดเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวน้อย การเพาะปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การส่งเสริมวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมูลค่าสูงชนิดอื่นแทนการปลูกข้าว เป็นต้น

 

          3. บทความ “พลิกมุม PISA ปัจจัยที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กไทย” 

          การศึกษาของไทยเริ่มส่งสัญญาณเข้าขั้นวิกฤต สะท้อนจากตัวชี้วัดทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะผลคะแนน PISA ที่ถือเป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนที่มีอายุ 15 ปีทั่วโลก ใน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD และเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเข้าร่วมการประเมิน (ปี 2543) โดยพบว่า ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ได้แก่ (1) ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (2) การกระจายทรัพยากรทางการศึกษามีความแตกต่างกันตามขนาดโรงเรียนและสังกัด (3) บทบาทของครอบครัวที่น้อยลง (4) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กลดลง (5) ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียน และ (6) บรรยากาศในการเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่เอื้อต่อการเรียนรู้

          ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ดังนี้ (1) สถานศึกษาต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เสมอภาคโดยควรพิจารณาเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณและบุคลากรครูตามความต้องการและบริบทของสถานศึกษาร่วมด้วย (2) ภาครัฐต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับผู้เรียน และมีกลไกรองรับเมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบ โดยควรสนับสนุนให้สถานศึกษามีการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถะได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตรรวมถึงใช้กลไกการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น (3) การปรับสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการมีพื้นที่การรับฟังความคิดเห็นส่งเสริมบทบาท การมีส่วนร่วม และสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกไว้วางใจและมีความคิดสร้างสรรค์และ (4) การสนับสนุนให้ครอบครัวมีบทบาทในการดูแลเด็กร่วมกับสถานศึกษา โดยมีพื้นที่การสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง เด็ก ครู ในการพูดคุยเรื่องเรียน ความต้องการ พฤติกรรม ศักยภาพและโรงเรียนควรมีข้อมูลของนักเรียนเพียงพอในการติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายคนตามสภาพปัญหา อีกทั้งต้องสังเกตความผิดปกติและไม่ปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

________________

1ผู้ทำงานต่ำระดับ คือ ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องการทำงานเพิ่ม (นับรวมผู้ที่ทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

2ผู้เสมือนว่างงาน คือ ผู้มีงานทำ 0-20 ชั่วโมง/สัปดาห์ (ภาคเกษตร) และ 0-24 ชั่วโมง/สัปดาห์ (นอกภาคเกษตร)

3ผู้ทำงานล่วงเวลา คือ ผู้มีงานทำที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

4สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ: เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) ที่ให้แก่บุลคลธรรมดา โดยไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ ซึ่งรวมถึงการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งในสินค้าที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้จำหน่ายเอง เช่น ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างสรรพสินค้า โดยชำระค่าสินค้าด้วยเงินที่ได้จากการขอสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งหนึ่ง (ยกเว้นสินค้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์)

 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567

 

 

6350

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!