ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดีย ครั้งที่ 10
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 June 2024 00:49
- Hits: 8193
ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดีย ครั้งที่ 10
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินเดีย ครั้งที่ 10 (การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ) (10th Joint Commission for Bilateral Cooperation between Thailand -India) และรับทราบการลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการ ร่วมฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นประธานร่วม
2. ผลการหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กและการหารือในช่วงงานเลี้ยงอาหารกลางวัน (ก่อนการประชุม) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (strategic partnership) และหารือแผนการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ฝ่ายอินเดียขอให้ฝ่ายไทยช่วยผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (ASEAN - India Trade in Goods Agreement: AITIGA) ให้มีความคืบหน้า ขณะที่ฝ่ายไทยขอให้รื้อฟื้นการเจรจาเพื่อเพิ่มสิทธิความจุการบินสำหรับสายการบินพาณิชย์ของไทย รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นพหุภาคี เช่น การแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก สถานการณ์ทะเลจีนใต้ ตลอดจนสถานการณ์ในเมียนมา
3. ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ สรุปได้ ดังนี้
3.1 ฝ่ายไทยขอบคุณอินเดียสำหรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุมาประดิษฐานที่ประเทศไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพิ่มเติมผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย การจัดตั้งกรอบการหารือระหว่างปลัดกระทรวงกลาโหมคู่ขนานกับการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศ การจัดตั้งกรอบการหารือระหว่างกองบัญชาการกองทัพ และการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือด้านอวกาศ ไซเบอร์ และความมั่นคงทางทะเล
3.2 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกันโดยจะพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเร็ว และเชิญชวนนักลงทุนของอีกฝ่ายเข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำโดยฝ่ายอินเดียรับจะพิจารณามาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางไทย
3.3 ด้านพหุภาคี อินเดียเห็นว่า ทั้งสองประเทศต้องเป็นผู้นำในการเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบบิมสเทคต่อไป ขณะที่ฝ่ายไทยแจ้งความประสงค์ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขานิเวศวิทยาทางทะเล (maritime ecology) ร่วมกับเครือรัฐออสเตรเลียในข้อริเริ่ม อินโด - มหาสมุทรแปซิฟิก (Indo - Pacific Oceans Initiative : IPOI) ของอินเดียด้วย
4. ภายหลังการประชุมฯ ทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามในเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ โดยมีการเจรจาหารือและเห็นพ้องปรับเปลี่ยนข้อความในร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เช่น ข้อ 4 ปรับเนื้อหาเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ และการเยือนระดับผู้นำ โดยยังไม่ระบุช่วงเวลา (จากเดิม ฝ่ายอินเดียคาดหวังที่จะต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยในการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เป็น ...ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกร่วมกัน) ข้อ 13 เพิ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย โดยมุ่งลดความซับซ้อน อำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจ และอยู่บนพื้นฐานของเอกสารกำหนดขอบเขต การทบทวนความตกลงฯ ข้อ 14 เพิ่มข้อความว่าอินเดียสนับสนุนให้ภาคเอกชนของไทยเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงอุตสาหกรรมแห่งชาติของอินเดีย
5. กต. เห็นว่า ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ มีประเด็นสำคัญ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะต้องร่วมดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป เช่น
ประเด็น |
ประเด็นที่ต้องดำเนินการ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
การเมือง/ความมั่นคง |
||||
การสถาปนาความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ |
ติดตามการพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมฯ กับฝ่ายอินเดีย |
กต. |
||
จัดประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือความมั่นคง (Joint Working Group on Security Cooperation) ครั้งที่ 13 |
พิจารณาวันและเวลาที่เหมาะสมในการจัดการประชุมฯ และประสานอินเดียให้ทราบในโอกาสแรก |
กห.สกมช. |
||
การลงนาม MOU ระหว่าง Indian Computer Emergency Response Team (CERT - In) กับ สกมช. |
ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายอินเดียถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มีการลงนามในช่วงปลายปี 2567 หากมีการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี |
สกมช. |
||
การทหาร |
||||
การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างหน่วยงาน ด้านการทหาร |
หารือกับผู้ประสานงานของอินเดียถึงการจัดให้มีการเยือนในโอกาสต่อไป |
กห. |
||
การจัดตั้งกรอบการหารือระหว่างปลัด กระทรวงกลาโหมคู่ขนานกับการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศ |
ประสานกับอินเดียเกี่ยวกับรายละเอียดและกำหนดการที่เหมาะสมในการจัดการประชุม |
กห. |
||
การจัดให้มีการลาดตระเวนร่วมทางน้ำ (Joint Naval Patrol) |
พิจารณาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ฝ่ายไทยจะได้รับ |
กห. |
||
เศรษฐกิจ |
||||
การผลักดันให้อินเดียพิจารณายกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อสินค้าไทย |
ติดตามพัฒนาการและเรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการต่างๆ |
กต. พณ. |
||
ชักชวนนักลงทุนอินเดียให้เข้ามาลงทุนในไทย |
พิจารณามาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนอินเดียตามความเหมาะสม พิจารณาจัดกิจกรรมในลักษณะ road show เพื่อแสดงศักยภาพของ EEC ในอินเดีย |
กต. สกท. สกพอ. |
||
การผลักดันการทบทวนความตกลงด้านการค้าสินค้า (ASEAN - India Trade in Goods Agreement: AITIGA) |
พิจารณาผลประโยชน์ของไทยในการทบทวน ความตกลงดังกล่าว |
กต. พณ. |
||
ความเชื่อมโยง |
||||
โครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย – เมียนมา – ไทย |
พิจารณาประสานกับอินเดียและเมียนมาเพื่อให้มีการลงนามในความตกลงยานยนต์ถนนสามฝ่าย (IMT Motor Vehicle Agreement) ในโอกาสแรกและผลักดันการเจรจาเนื้อหาในพิธีสารแนบท้ายต่อไป |
กต. คค. |
||
การเพิ่มสิทธิความจุการบิน |
ฝ่ายไทยประสงค์เจรจาเพื่อเพิ่มสิทธิความจุให้แก่สายการบินพาณิชย์ของไทยในเที่ยวบินที่เดินทางไปอินเดีย |
กต. คค. กพท. |
||
โครงการแลนด์บริดจ์ |
ฝ่ายไทยเชิญชวนให้ภาครัฐและเอกชนอินเดียร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเรือระหว่างกัน |
คค. |
||
การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือไทยกับอินเดีย และการจัดทำความร่วมมือ ด้านการเดินเรือใกล้ฝั่ง (Near Costal Voyage) |
พิจารณาความเป็นไปได้และประโยชน์ของไทยจากการมีความร่วมมือด้านการเดินเรือใกล้ฝั่งและพิจารณาแนวทางใช้ประโยชน์จากความตกลงระหว่างท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด |
คค. |
||
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี |
||||
การประชุมผู้นำบิมสเทค |
ประสานกับประเทศสมาชิกเพื่อกำหนดวันจัดการประชุม |
กต. |
||
การแลกเสียงในกรอบสหประชาชาติ |
พิจารณาสนับสนุนอินเดียตามที่เห็นเหมาะสม |
กต. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 11 มิถุนายน 2567
6345