ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 June 2024 01:57
- Hits: 6431
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้ กต. แจ้งต่อ ฝ่ายสหภาพยุโรปเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพยุโรปว่าด้วยการยอมรับแลสเซ-ปาสเซ (Laissez–Passer) ที่ออกโดยสหภาพยุโรป ว่าเป็นเอกสารการเดินทางที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับ ตามที่ กต. เสนอ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กต. เสนอว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบความตกลงระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพยุโรปว่าด้วยการยอมรับแลสเซ-ปาสเซ ที่ออกโดยสหภาพยุโรปว่าเป็นเอกสารการเดินทางที่สมบูรณ์ ตามที่ กต. เสนอ และมอบหมายให้ กต. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ และระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับความตกลงฯ ในโอกาสแรก
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและสหภาพยุโรปได้ลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับแลสเซ-ปาสเซ ที่ออกโดยสหภาพยุโรป หรือ EU เป็นเอกสารการเดินทางของเจ้าหน้าที่ EU ที่สมบูรณ์เทียบเท่ากับหนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางเข้ามาในไทย โดยผู้ที่ถือแลสเซ-ปาสเซ เข้ามาในไทยจะต้องเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในไทย
3. ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1 กต. และ มท. จึงได้ร่วมกันยก ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 โดยปรับเพิ่มเฉพาะถ้อยคำว่า “หรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรป” และ “หรือหน่วยงานสหภาพยุโรป” เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงฯ ดังนี้
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 |
ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ กต. เสนอ |
|
ข้อ 3 การตรวจลงตราประเภททูต ให้จำกัดเฉพาะ การขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) การปฏิบัติหน้าที่ทางทูตหรือกงสุล (2) การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ ข้อ 3 วรรคสอง |
● ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
|
|
“ทั้งนี้ ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูต ยื่นขอรับการตรวจลงตราต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย พร้อมกับหนังสือขอรับการตรวจลงตรา สำหรับผู้นั้นจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือองค์การหรือหน่วยงานสหประชาชาติ แล้วแต่กรณี” | “ทั้งนี้ ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปยื่นขอรับการตรวจลงตรา ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย พร้อมกับหนังสือขอรับการตรวจลงตราสำหรับผู้นั้นจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือองค์การหรือหน่วยงานสหประชาชาติ หรือหน่วยงานสหภาพยุโรป แล้วแต่กรณี” | |
ข้อ 4 การตรวจลงตราประเภทราชการ |
● ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน |
|
“การตรวจลงตราประเภทราชการ ให้จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ โดยผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการ ต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย พร้อมกับหนังสือขอรับการตรวจลงตรา สำหรับผู้นั้นจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หรือองค์การหรือหน่วยงานสหประชาชาติ แล้วแต่กรณี” | “การตรวจลงตราประเภทราชการ ให้จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ โดยผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการหรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย พร้อมกับหนังสือขอรับการตรวจลงตราสำหรับผู้นั้นจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หรือองค์การ หรือหน่วยงานสหประชาชาติ หรือหน่วยงานสหภาพยุโรป แล้วแต่กรณี” | |
ข้อ 10 การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรี ให้จำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ข้อ 10 (1) “การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ เพื่อการอื่น นอกจากที่ระบุในข้อ 3 (1) หรือ (2) หรือข้อ 4” |
● ให้ยกเลิกความในข้อ 10 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติที่เทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางราชการ หรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรป เพื่อการอื่นนอกจากที่ระบุในข้อ 3 (1) หรือ (2) หรือข้อ 4” |
ทั้งนี้ ผู้ถือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปสามารถยื่นขอรับการตรวจลงตรา ตามบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการพำนักในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (ก.) ประเภททูต (ข.) ประเภทราชการ และ (ค.) ประเภทอัธยาศัยไมตรี โดยจะบังคับใช้กับบุคคลในครอบครัวที่ถือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรปด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6126