วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 June 2024 01:45
- Hits: 6440
วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็น งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
สาระสำคัญ
ตามที่สำนักงบประมาณร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อทบทวนประมาณการรายได้ กำหนดนโยบายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ได้เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น สำนักงบประมาณขอเสนอ ดังนี้
1. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 รับทราบและเห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่ การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ดี เนื่องจากมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ดังนั้น การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 และสอดคล้องตามมาตราดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน
2. บทบัญญัติของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
2.1 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
มาตรา 7 กำหนดให้การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือ การดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
มาตรา 15 กำหนดให้การจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้นำแผนการคลังระยะปานกลางมาประกอบการพิจารณาด้วย และให้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายงบประมาณ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน สถานะของหนี้สาธารณะ และความสามารถในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
มาตรา 21 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย
2.2 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
มาตรา 13 กำหนดให้การเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภาให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม โดยให้แสดงเหตุผลและเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ขอตั้งด้วย
มาตรา 24 กำหนดให้ในการจัดทำงบประมาณประจำปี ให้สำนักงบประมาณ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ เมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
2.3 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 รับทราบและเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง
2.4 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาทบทวนประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 29 - 31 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567
2.5 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต
3. วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
3.1 วัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยสามารถกระจายไปทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงระดับฐานรากเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศต่อไป
3.2 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กำหนดไว้เป็น จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็น งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรอบวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลกู้ได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 จะมีจำนวนรวม 815,056 ล้านบาท ซึ่งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการขาดดุลงบประมาณรวม จำนวน 805,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงยังมีกรอบวงเงินกู้คงเหลืออีก จำนวน 10,056 ล้านบาท
3.3 สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 (ค่ากลาง ร้อยละ 2.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 1.1 (ค่ากลางร้อยละ 0.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
3.4 นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
1) โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ กำหนดไว้เป็น จำนวน 24,400 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายประจำตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2,540,468.6 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายประจำ จำนวน 2,564,868.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 162,328.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.2 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.4
(2) รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้เป็น จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 710,080.5 ล้านบาท จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 118,200.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.7
2) รายได้รัฐบาล จำนวน 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐบาลสุทธิ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,797,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 307,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 112,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับประมาณการขาดดุล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่กำหนดไว้ จำนวน 693,000 ล้านบาท จะมีการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 805,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 417,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.1 ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
รายละเอียดโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรากฏตามตาราง ดังนี้
โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
หน่วย : ล้านบาท
โครงสร้างงบประมาณ |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 |
||||||
พ.ร.บ. |
เพิ่ม/ - ลด จากปี 2565 |
พ.ร.บ. |
งบเพิ่มเติม |
รวมงบ ประมาณ |
เพิ่ม/ - ลด จากปี 2566 |
|||
จำนวน |
ร้อยละ |
จำนวน |
ร้อยละ |
|||||
1. วงเงินงบประมาณรายจ่าย |
3,185,000.0 |
85,000.0 |
2.7 |
3,480,000.0 |
122,000.0 |
3,602,000.0 |
417,000.0 |
13.1 |
- สัดส่วนต่อ GDP | 17.8 | 18.8 | 0.7 | 19.5 | ||||
1.1 รายจ่ายประจำ | 2,402,539.7 | 29,530.2 | 1.2 | 2,540,468.6 | 24,400.0 | 2,564,868.6 | 162,328.9 | 6.8 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ | 75.4 | 73.0 | 20.0 | 71.2 | ||||
1.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง | - | -596.7 | -100.0 | 118,361.1 | - | 118,361.1 | 118,361.1 | 100.0 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ | - | 3.4 | - | 3.3 | ||||
1.3 รายจ่ายลงทุน | 689,479.9 | 77,546.5 | 12.7 | 710,080.5 | 97,600.0 | 807,680.5 | 118,200.6 | 17.1 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ | 21.7 | 20.4 | 80.0 | 22.4 | ||||
1.4 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ | 100,000.0 | - | - | 118,320.0 | - | 118,320.0 | 18,320.0 | 18.3 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ | 3.1 | 3.4 | - | 3.3 | ||||
2. รายได้ - สัดส่วนต่อ GDP |
2,490,000.0 13.9 |
90,000.0 |
3.8 |
2,787,000.0 15.1 |
10,000.0 0.1 |
2,797,000.0 15.1 |
307,000.0 |
12.3 |
3. วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล |
695,000.0
|
- 5,000.0 |
-0.7 |
693,000.0
|
112,000.0
|
805,000.0
|
110,000.0 |
15.8 |
- สัดส่วนต่อ GDP | 3.9 | 3.7 | 0.6 | 4.3 | ||||
4. กรอบวงเงินกู้สูงสุดเพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ |
717,000.0 |
17,000.0 |
2.4 |
790,656.0 |
|
815,056.0 |
98,056.0 |
13.7 |
5. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) |
17,922,000.0 |
544,000.0 |
3.1 |
18,513,500.0 |
18,513,500.0 |
18,513,500.0 |
591,500.0 |
3.3 |
หมายเหตุ : 1. รายจ่ายลงทุน จำนวน 807,680.5 ล้านบาท รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,230.2 ล้านบาท
2. โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นไปตามมติที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สงป. กค. สศช. ธปท.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567
3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6124