ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 June 2024 01:02
- Hits: 6545
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน)
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน) เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสะท้อนความคิดเห็นต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการบริหารประเทศ และความต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ใช้ในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนกำหนดนโยบายให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาขน การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 ราย จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 6,970 ราย ระหว่างวันที่ 22 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ประชาชนร้อยละ 83.9 ติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยระบุแหล่งข้อมูลที่ติดตามรับรู้มากที่สุด คือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 69.6) รองลงมาได้แก่ เฟสบุ๊ค (ร้อยละ 46.2) เว็บไซต์ (ร้อยละ 23.8) ญาติ/คนรู้จัก (ร้อยละ 16.0) ไลน์ (ร้อยละ 15.5) เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 16.1 ไม่ติดตาม/ไม่รับรู้ ในจำนวนนี้ให้เหตุผล คือ ไม่สนใจ ไม่มีเวลาว่าง เป็นต้น
เมื่อพิจารณากลุ่มอายุและระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีอายุมากจะติดตาม/รับรู้ข่าวสารของรัฐบาลจากโทรทัศน์ ขณะที่ผู้ที่มีอายุน้อยจะติดตาม/รับรู้ข่าวสารของรัฐบาลจากสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปจะติดตาม/รับรู้ข่าวสารของรัฐบาลจากสื่อออนไลน์เช่นเดียวกัน
2. ประชาชนร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก - มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.6 และมากร้อยละ 38.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 และน้อย - น้อยที่สุดร้อยละ 14.1 (น้อยร้อยละ 11.1 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.0) ขณะที่ร้อยละ 2.0 ไม่พึงพอใจเลย
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปเช่นเดียวกับผู้มีรายได้น้อยมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก
3. นโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก - มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ (ร้อยละ 68.4) มาตรการพักหนี้เกษตรกร (ร้อยละ 38.9) มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (ร้อยละ 33.1) มาตรการลดค่าไฟ (ร้อยละ 32.8) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ (ร้อยละ 29.3)
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาคมีความพึงพอใจในระดับมาก - มากที่สุดต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในสัดส่วนที่สูงกว่านโยบาย/มาตรการ/โครงการอื่น
4. ประชาชนร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก - มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.2 และมากร้อยละ 36.7) ร้อยละ 39.6 ปานกลาง ขณะที่ร้อยละ 15.8 มีความเชื่อมั่นในระดับน้อย - น้อยที่สุด (น้อยร้อยละ 12.4 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.4) ขณะที่อีกร้อยละ 2.7 ไม่เชื่อมั่นเลย
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปเช่นเดียวกับผู้มีรายได้น้อยมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก - มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก
5. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค (ร้อยละ 75.3) ลดค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 46.6) แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง (ร้อยละ 29.5) แก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 26.3) และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ (ร้อยละ 16.9)
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาคต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วนในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค ในสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6121