WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index: CPI 2023) และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

Gov 36

รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index: CPI 2023) และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี พ.ศ. 2566 (Corruption Perceptions Index: CPI 2023) และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ

          สาระสำคัญ

          สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่าคะแนนดัชนีการรับการทุจริต (CPI) มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI จึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคะแนน CPI ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของประเทศไทย สรุปได้ ดังนี้

          1. รายงานผลการวิเคราะห์ค่าคะแนน CPI ประจำปี พ.ศ. 2566 (CPI 2023)

              1.1 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศผลคะแนน CPI 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ พบว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่ได้รับการประเมินมีระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน มีประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดใน 10 อันดับแรก คือ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (90 คะแนน) สาธารณรัฐฟินแลนด์ (87 คะแนน) ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ (85 คะแนน) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ (84 คะแนน) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (83 คะแนน) ราชอาณาจักรสวีเดนและสมาพันธรัฐสวิส (82 คะแนน) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (79 คะแนน) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (78 คะแนน) และราชรัฐลักเซมเบิร์ก (78 คะแนน) สำหรับประเทศที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุด คือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (13 คะแนน) สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย (13 คะแนน) สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา (13 คะแนน) และสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (11 คะแนน)

              1.2 ไทยได้คะแนน CPI 35 คะแนน1 อยู่ในอันดับที่ 108 และอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ (83 คะแนน) สหพันธรัฐมาเลเซีย (50 คะแนน) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (41 คะแนน) ในภาพรวมคะแนนของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนลดลง ซึ่งมีจำนวน 63 ประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมี 55 ประเทศ และมีประเทศที่คะแนนเท่าเดิม 62 ประเทศ สะท้อนว่า การประเมิน CPI ของไทยในสายตานานาชาติ ในปี 2566 ลดลงจากปี 2565

              1.3 คะแนน CPI ของประเทศในอาเซียน ประเทศที่มีคะแนนลดลง ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลดลง 1 คะแนน) ไทย (ลดลง 1 คะแนน) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลดลง 1 คะแนน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (ลดลง 3 คะแนน) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ลดลง 3 คะแนน) ซึ่งสะท้อนถึงระดับความโปร่งใสที่ลดลงของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น 2 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐมาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 3 คะแนน) และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

              1.4 สาเหตุสำคัญของคะแนน CPI ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2566

                    (1) คะแนนเพิ่มขึ้นในแหล่งการประเมิน 1 แหล่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริต คือ PERC2 โดยไทยได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 2 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 35 คะแนน) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มมากขึ้น

                    (2) คะแนนลดลงในแหล่งการประเมิน 3 แหล่ง คือ WEF3 โดยไทยได้ 36 คะแนน (ลดลง 9 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 45 คะแนน) BF (TI)4 ไทยได้ 33 คะแนน (ลดลง 4 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 37 คะแนน) และ WJP5 ไทยได้ 33 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน จากปี 2565 ที่ได้ 34 คะแนน) สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีประเด็นสำคัญที่เป็นที่น่าสนใจของสังคม ในเรื่องการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ดังนั้น จึงควรมีการเร่งรัดกระบวนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในประเด็นสำคัญให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

              1.5 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้มีข้อเสนอแนะสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่

                    (1) เสริมสร้างความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม การป้องกันกระบวนการยุติธรรมจากการแทรกแซงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานของกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการแต่งตั้งโดยยึดหลักคุณธรรมมากกว่าเรื่องทางการเมืองและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมว่ามีบุคลากรที่มีคุณสมบัติและมีทรัพยากรที่เหมาะสม

                    (2) มุ่งเสนอกลไกด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบติดตาม โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษเพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกแทรกแซง อาจทำได้โดยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแส การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและผลประโยชน์อื่นใดของผู้พิพากษา อัยการ และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และทำให้มั่นใจว่าเงินเดือนที่ได้รับของเจ้าหน้าที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่

                    (3) ปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนแรกที่จะป้องกันการได้รับการยกเว้นโทษอย่างไม่เป็นธรรมและการทุจริต จะต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การทำให้ขั้นตอนง่ายและไม่ซับซ้อน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายได้ ขยายความการเป็นผู้เสียหายจากการทุจริตให้หมายรวมถึงผู้เสียหายที่ไม่ใช่รัฐ และมอบอำนาจให้องค์กรภาคประชาสังคมริเริ่มและเปิดเผยคดีการทุจริตไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตทางอาญา แพ่งหรือกระบวนการทางปกครอง รวมไปถึงให้องค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้เป็นผู้รักษาผลประโยชน์แทนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริต

                    (4) เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสจะสามารถสร้างความเชื่อมมั่นในระบบการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีความรับผิดชอบมากขึ้น การรับรองข้อมูลด้านการตัดสินคดีความต่างๆ การยุติข้อพิพาทนอกศาล การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการด้านกฎหมายและกฎระเบียบด้านการบริหาร ให้เป็นที่เปิดเผยและให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและช่วยกลั่นกรองได้ การกระทำเช่นนี้จะช่วยลดอัตราการทุจริตและเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตเป็นไปอย่างถูกต้อง

                    (5) ส่งเสริมความร่วมมือภายในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมหลักมีความซับซ้อน แต่การบริหารจัดการให้องค์ประกอบต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนและเสริมกันถือเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากมีการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกอย่างแพร่หลายในบางภูมิภาค การไตร่ตรองถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกระบวนการยุติธรรมหลักและกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพราะอาจเป็นประโยชน์เช่นกัน

                    (6) ขยายช่องทางการรับผิดในคดีความการทุจริตระหว่างประเทศ เมื่อมีการทุจริตข้ามชาติเกิดขึ้นในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหรือไม่ยินยอมที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด สถาบันยุติธรรมในพื้นที่ปกครองโดยเขตอำนาจศาลต่างประเทศ ซึ่งมีหลักนิติธรรมที่แข็งแกร่งกว่าสามารถมีบทบาทสำคัญในการจัดการกรณีที่มีการยกเว้นโทษการกระทำทุจริตข้ามชาติ โดยมีการบังคับใช้มาตรการสำคัญ เช่น เขตอำนาจศาลเพิ่มเติมการคุ้มครองเบื้องต้นให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ ยืนหยัดที่จะสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ติดตามการดำเนินคดีต่างๆ และเป็นตัวแทนของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ให้คำจัดกัดความของความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมความเสียหายอย่างรอบด้านและจำนวนผู้เสียหายที่ครบถ้วนมากขึ้น

          2. รายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

              2.1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการเพื่อมุ่งยกระดับค่าคะแนน CPI ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต6 (คณะอนุกรรมการฯ) ภายใต้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจรติแห่งชาติ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ผ่าน 4 แผนงาน 13 แนวทาง 36 มาตรการ ได้แก่ (1) แผนงานที่ 1 การป้องกันการติดสินบน 3 แนวทาง 16 มาตรการ (2) แผนงานที่ 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ 4 แนวทาง 5 มาตรการ (3) แผนงานที่ 3 การใช้งบประมาณและทรัพยากรภาครัฐอย่างคุ้มค่า 3 แนวทาง 11 มาตรการ และ (4) แผนงานที่ 4 ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการทุจริต 3 แนวทาง 4 มาตรการ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) เพื่อเป็นกรอบแผนการดำเนินการระยะยาวในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา (ตามขั้นตอนการจัดทำแผนระดับที่ 3) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

              2.2 คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดกรอบการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการฯ โดยถ่ายทอดเป็นแผนการดำเนินงานรายปี และในแต่ละปีงบประมาณได้กำหนดประเด็นสำคัญเร่งด่วน (Quick Win) ที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาอันสั้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลการดำเนินงาน สรุปได้ดังนี้

                    (1) สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่าน 4 แผนงาน ประกอบด้วย 95 กิจกรรม/โครงการ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 92 กิจกรรม/โครงการ ดังนี้ 1) แผนงานที่ 1 การป้องกันการติดสินบน ดำเนินกิจกรรม/โครงการแล้วเสร็จ 44 กิจกรรม/โครงการ (จากทั้งหมด 47 กิจกรรม/โครงการ)7 เช่น โครงการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตภาครัฐ 2) แผนงานที่ 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินกิจกรรม/โครงการแล้วเสร็จทั้งหมด 12 กิจกรรม/โครงการ เช่น โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อตีแผ่และถอดบทเรียนคดีทุจริตประพฤติมิชอบ 3) แผนงานที่ 3 การใช้งบประมาณและทรัพยากรภาครัฐอย่างคุ้มค่า ดำเนินกิจกรรม/โครงการแล้วเสร็จทั้งหมด 19 กิจกรรม/โครงการ เช่น โครงการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และ 4) แผนงานที่ 4 ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ดำเนินกิจกรรม/โครงการแล้วเสร็จทั้งหมด 17 กิจกรรม/โครงการ เช่น โครงการเครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต “PACC Connect”

                    (2) การดำเนินงานในประเด็นสำคัญเร่งด่วน (Quick Win)

                         1) การเสริมสร้างความโปร่งใสในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เช่น พัฒนาระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ระยะที่ 4 เพื่อออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) จำนวน 44 รายการ ทบทวนและปรับปรุงระยะเวลาการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐ (คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565)

                         2) การดำเนินการเพื่อสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership: OGP) ได้เปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน

                         3) การพัฒนาการขออนุมัติ อนุญาตต่างๆ ผ่านระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) เช่น ยกระดับการให้บริการในส่วนกลาง โดยพัฒนาระบบต้นแบบในการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่างๆ แล้วเสร็จ จำนวน 32 ใบอนุญาต

                         4) การเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดสรรงบประมาณตามหลักสากล เช่น ส่งเสริมและผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการงบประมาณตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่องค์กรทางด้านงบประมาณระหว่างประเทศ

                         5) การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลดข้อจำกัดทางกฎหมาย ลดโอกาสในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและแสวงหาประโยชน์ เช่น ปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 25588 จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....

          3. กรอบแนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ระยะต่อไป จากผลการวิเคราะห์ค่าคะแนน CPI และรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับค่าคะแนน CPI ในปี 2566 พบข้อมูลที่มีนัยสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. จะได้เร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการยกระดับค่าคะแนน CPI และจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ให้สูงขึ้น และสอดคล้องตามเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป

__________________________

1 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ไทยได้คะแนน CPI ดังนี้ ปี 2560 ได้ 37 คะแนน ปี 2561-2563 ได้ 36 คะแนน ปี 2564 ได้ 35 คะแนน และปี 2565 ได้ 36 คะแนน

2 Political and Economic Risk Consultancy: PERC แหล่งการประเมินเกี่ยวกับการให้คะแนนการคอร์รัปชันในประเทศที่อาศัย/ทำงานอยู่เท่าใด

3 World Economic Forum Executive Opinion Survey: WEF แหล่งการประเมินเกี่ยวกับภาคเอกชนจะต้องจ่ายสินบนในการยกเว้นการยื่นเอกสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจนำเข้าส่งออก การให้บริการสาธารณูปโภค การชำระภาษีประจำปีการจดสัญญาและใบอนุญาตต่างๆ การตัดสินของฝ่ายตุลาการ มากน้อยเพียงใด

4 Bertelsmann Stiftung Transformation Index: BF (TI) แหล่งการประเมินเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดถูกลงโทษอย่างไร และรัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างไร

5 World Justice Project Rule of Law Index Expert Survey: WJP แหล่งการประเมินเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ (ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ตำรวจและทหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ) ใช้ทรัพยากรและอำนาจหน้าที่ของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือไม่อย่างไร

6 คณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ จำนวน 26 หน่วยงาน มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกำหนดแผนระยะยาวในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI

7 มีโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ 3 กิจกรรม/ โครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องดำเนินงานต่อจากโครงการอื่นซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 1 โครงการ และเป็นโครงการที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2 โครงการ

8 คณะรัฐมนตรีมีติ (2 เมษายน 2567) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567

 

 

6118

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!