มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 June 2024 00:18
- Hits: 6624
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
2. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) (เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมายในเรื่องนี้
กค. เสนอว่า
1. ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ในปี 2566 มีจำนวนประมาณ 28 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19) มีจำนวนประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ประสบปัญหา และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งทำให้อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ COVID-19 และปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม จึงเห็นควรเสนอมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นภายในประเทศ ในช่วง Low Season ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และ 2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. วัตถุประสงค์ |
- เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน |
|
2. กลุ่มเป้าหมาย |
- บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล |
|
3. ระยะเวลาดำเนินงาน |
- ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 |
|
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี |
- ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนา1 ภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม2 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ยกเว้นค่าขนส่ง โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องได้รับใบรับ3 ในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร - กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1. หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก) 2. หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) 3. ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด เนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่งๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อเนื่องกัน และให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตาม 1) หรือ 2) แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด |
|
5. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข |
- เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 429) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ และกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง ประกาศ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2565 |
|
6. พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ |
- จังหวัดท่องเที่ยวรอง4 โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัดและพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด5 (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) - พื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า) |
2.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. วัตถุประสงค์ |
เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และสนับสนุนห่วง โซ่อุปทานด้าน การท่องเที่ยวอีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน |
|
2. กลุ่มเป้าหมาย |
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล |
|
3. ระยะเวลาดำเนินงาน |
- ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 |
|
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี |
- ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลสามารถหักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้ 1) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว6 ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 2) ค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม 3) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย 4) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม - สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท - ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม7 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น |
|
5. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข |
- เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 349) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พัก สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรองประกาศ ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562 |
|
6. พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ |
- จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น |
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ตามข้อ 2.1 - 2.2 ดำเนินการออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ ซึ่ง กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาด้วยแล้ว
3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่า
3.1 การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับ นิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท
3.2 การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 รายอย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดี ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
4. ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 กค. จึงได้ยืนยันเรื่องดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
–––––––––––––––––––––––––––
1 รายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนา เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดการ ค่าวิทยากร และค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการอบรมสัมมนา เช่น ค่าเอกสารประกอบการอบรม ค่าจ้างถ่ายเอกสาร ค่าบันทึกภาพและเสียง และ ค่าจัดทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรในการฝึกอบรม
2 ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
3 ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร
4 อ้างอิงจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 757) พ.ศ 2565 โดยจังหวัดท่องเที่ยวรอง ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย
จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี
5 อ้างอิงจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการอบรมสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง ประกาศ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ 2561 โดยพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ ในจังหวัดกระบี่ อำเภอบ้านบึง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง และอำเภอหนองใหญ่ ในจังหวัดชลบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
6 ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเดินทางไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โดยจัดให้มีบริการหรือการอำนวยความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง อันได้แก่ สถานที่พัก อาหาร มัคคุเทศก์ หรือบริการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
7 ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6117