มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 06 June 2024 00:01
- Hits: 6590
มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอดังนี้
1. รับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568
2. มอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้ กนช. ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กนช. รายงานว่า
1. ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้หน่วยงานนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงาน สำหรับช่วงฤดูฝนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี (ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี) ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ (1) ช่วงก่อนฤดู เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ (2) ช่วงระหว่างฤดู เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ และ (3) ช่วงสิ้นสุดฤดู เป็นการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ซึ่งในช่วงก่อนฤดูฝนของทุกปีจะมีการจัดทำมาตรการรับมือฤดูฝน
2. ในครั้งนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนประชุมหารือกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ ดังนี้
การดำเนินการ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป) |
||
(1) คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม พร้อมปรับข้อมูลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน (2) ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติเพื่อเตรียมดำเนินในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง (3) เพิ่มประสิทธิภาพ/ปรับแผนการแจ้งเตือนระยะยาว ระยะปานกลาง ระยะสั้น (เผชิญเหตุ) อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนตามความรุนแรงของสถานการณ์ |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 2 ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำ และกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ หลักเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) และเกณฑ์การระบายน้ำเขื่อน/อาคารระบายน้ำเชื่อมโยงกับระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ (2) บริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่มลุ่มน้ำ เช่น จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกขนาดเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม (3) บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก เช่น เตรียมความพร้อมการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิง เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และจัดทำแผนการระบายน้ำ/แผนกักเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน (4) วางแผน ปรับปฏิทิน และควบคุมพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยกำหนดแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง พร้อมแจ้งแผนให้ มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด |
อว. กษ. ทส. กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) กทม. สทนช. และคณะกรรมการลุ่มน้ำ |
|
มาตรการที่ 3 เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมและช่วงฝนทิ้งช่วงให้สามารถให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ รวมถึงติดตามวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและช่วงฝนทิ้งช่วงด้วยภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ (UAV) (2) เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน เช่น ตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ และตรวจสอบสถานีโทรมาตร ซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถตรวจวัดแสดงผล และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ในการติดตามสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (3) ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น สำรวจ และจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด และปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง |
กระทรวงกลาโหม (กห.) อว. กษ. กระทรวงคมนาคม (คค.) ดศ. ทส. พน. มท. กทม. สทนช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
|
มาตรการที่ 4 ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบาง พร้อมทั้งซ่อมแซมและปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งาน (2) เตรียมแผนเสริมความสูง หรือก่อสร้างคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำชั่วคราวหากจำเป็น (3) จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ ภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ประกอบด้วยภาครัฐและภาคประชาชน |
อว. คค. กษ. พน. มท. และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วง ฤดูฝน) |
||
(1) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักรเครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และขยะในลำน้ำ (2) ดำเนินการขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (3) เชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และขยะในลำน้ำ (4) มอบหมายคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการ กำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในช่วงก่อนฤดูฝนและระหว่างฤดูฝน 2567 (5) จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลากกรณี ต่างๆ ในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่เปราะบาง |
อว. กษ. คค. ทส. มท. กทม. และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ล่วงหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และจัดเตรียมพื้นที่อพยพ (2) ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย เช่น ตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า สำหรับเผชิญเหตุ เพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการสถานการณ์ (3) วางแผนกำหนดแนวทางการฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ |
กห. อว. กษ. ดศ. ทส. มท. นร. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสทนช. |
|
มาตรการที่ 7 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ภายในเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2567) |
||
(1) เร่งเก็บน้ำ/สูบทอยน้ำส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไปเก็บในลำน้ำ และแหล่งน้ำทุกประเภทไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง (2) บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ/แหล่งน้ำตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) หรือเต็มศักยภาพเก็บกัก (3) พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้น ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล เป็นต้น เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งถัดไป (4) ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ในการสูบผันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน |
กษ. ทส. พน. และมท. |
|
มาตรการที่ 8 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) ให้องค์ความรู้ภาคประชาชนในการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งข้อมูลในพื้นที่ (2) สร้างเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลสถานการณ์ (3) สร้างช่องทางในการส่งข้อมูล/แจ้งข้อมูลสถานการณ์ (4) ซักซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับท้องถิ่น |
ทส. มท. กทม. สทนช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและคณะกรรมการลุ่มน้ำ |
|
มาตรการที่ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายต่างๆ และประชาชน (2) จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยง (3) สร้างการรับรู้ที่เข้าใจง่าย เช่น รูปแบบภาษาถิ่น |
ทส. มท. นร. กทม. สทนช. และคณะกรรมการลุ่มน้ำ |
|
มาตรการที่ 10 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) กำหนดประเด็นตัวชี้วัดการดำเนินการ(กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์) (2) ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด (3) ติดตามการดำเนินงานและสรุปผล เพื่อปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย |
สทนช. |
2.2 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 (2) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน (3) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 |
|
พื้นที่เป้าหมาย |
(1) พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด (2) พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร |
|
ระยะเวลาดำเนินการ |
120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ |
|
กิจกรรม และประเภท แผนงานโครงการ |
แบ่งกิจกรรมไว้ทั้งหมด 5 กิจกรรม เพื่อสรุป วิเคราะห์ กลั่นกรองและจัดกลุ่มแผนงานโครงการ ให้สอดคล้องกับการดำเนินการของแต่ละกิจกรรม ดังนี้ (1) การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุมการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกันน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น (2) การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา เป็นงานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ เช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ เป็นต้น (3) การขุดลอกคูคลอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง เป็นต้น (4) การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เป็นการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น (5) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น |
|
การติดตามและประเมินผล |
(1) แผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยจังหวัด หรือจังหวัดให้หน่วยงานอื่นเบิกจ่ายแทน ให้จังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ รวบรวมวิเคราะห์ สรุป จัดทำรายงานความก้าวหน้า (2) แผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบ รวบรวม วิเคราะห์ สรุปและจัดทำรายงานความก้าวหน้า (3) แผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยส่วนราชการ ให้หน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยงานรับงบประมาณ เป็นผู้รับผิดชอบ รวบรวม วิเคราะห์ สรุป จัดทำรายงานความก้าวหน้า โดยให้รายงานความก้าวหน้าการขอรับการจัดสรรงบประมาณ และรายงานผลการดำเนินงานให้ สทนช. ทราบ ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือนจนกว่าการดำเนินโครงการจะแล้วเสร็จ |
หมายเหตุ: สทนช. จะไม่พิจารณาแผนงานโครงการที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเช่น งานด้านซ่อม/ปรับปรุงถนน หรืออาคารสิ่งปลูกสร้างบ้านที่พักอาศัย/สำนักงาน งานปรับปรุงภูมิทัศน์ เป็นต้น
3. กนช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โดยให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ เช่น
3.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 หลังจาก กนช. ให้ความเห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าวให้ สทนช. ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3.2 ให้หน่วยงานเตรียมแผนงานโครงการและความพร้อมของโครงการให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6115