การขับเคลื่อนความร่วมมือและการเข้าเป็นภาคีความตกลงในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 June 2024 23:43
- Hits: 6394
การขับเคลื่อนความร่วมมือและการเข้าเป็นภาคีความตกลงในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการเข้าร่วมกิจกรรมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการรับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ
2. เห็นชอบต่อร่างความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Agreement on the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Clean Economy) และร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Fair Economy) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
3. เห็นชอบการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามร่างความตกลงฯ ข้างต้น ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน เห็นชอบการมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้แทนดังกล่าวลงนามร่างความตกลงฯ
4. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย
5. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารของความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับ เพื่อมอบให้กับผู้เก็บรักษา (Depositary) ความตกลงฯ ต่อไป เมื่อฝ่ายไทยได้ดำเนินกระบวนการที่จำเป็นสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ เสร็จสิ้นแล้ว
สาระสำคัญ
1. ผลการเข้าร่วมกิจกรรมระดับผู้นำ IPEF การรับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำ IPEF และการประชุมที่เกี่ยวข้อง สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส IPEF ระหว่างวันที่ 5 - 12 พฤศจิกายน 2566 การประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2566 และกิจกรรมระดับผู้นำ IPEF ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้นำ รัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วน IPEF 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการของการเจรจาและแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปตลอดจนการจัดทำข้อริเริ่มและการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญอื่นๆ อาทิ การเปิดตัวโครงการเร่งรัดการลงทุนตามข้อริเริ่ม Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGI) IPEF Investment Accelerator และการจัดตั้งกองทุน IPEF Catalytic Capital Fund และการจัดกิจกรรม IPEF Clean Economy Investor Forum เพื่อสนับสนุนการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำ IPEF รับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ ซึ่งโดยสรุปกล่าวถึงพัฒนาการที่สำคัญใน IPEF โดยเฉพาะการลงนามร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Pillar II: Supply Chain) เมื่อวันที่ 14 พฤจิกายน 2566 และการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III: Clean Economy) และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV: Fair Economy) พร้อมทั้งจะสานต่อการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า (Pillar I: Trade) ตลอดจนแสวงหาข้อริเริ่มความร่วมมือเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ กลไกการหารือความร่วมมือด้านแร่สำคัญ (IPEF Critical Minerals Dialogue) กลไกความร่วมมือด้านพลังงานและเทคโนโลยี และการจัดตั้งเครือข่ายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุมระดับผู้นำ IPEF ทุก 2 ปี และการประชุมระดับรัฐมนตรีทุกปี ทั้งนี้ ถ้อยแถลงฯ ได้มีการปรับแก้ถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญเพื่อให้ได้ฉันทามติ โดยไม่ขัดกับผลประโยชน์ของไทยและหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566
2. การจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมกับสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในโอกาสที่นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เดินทางเยือนประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วน IPEF เข้าร่วมผ่านระบบทางไกล ที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการความร่วมมือที่สำคัญ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือ Cooperative Work Program (CWP) ภายใต้ Pillar III การจัดตั้งกองทุน IPEF Catalytic Capital Fund การดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถตามกรอบ Capacity Building Framework (CBF) ภายใต้ Pillar IV ตลอดจนแผนการจัดกิจกรรม IPEF Clean Economy Investor Forum และการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ณ สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 - 6 มิถุนายน 2567
3. ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Agreement on the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) มีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ IPEF ในระดับรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้ Pillar I-IV และคณะมนตรี IPEF (IPEF Council) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานในภาพรวม รวมถึงพิจารณาข้อเสนอในการเจรจาร่างความตกลงหรือจัดตั้งกลไกเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังระบุให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี 1 ครั้งต่อปี รวมถึงแนวทางการจัดการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการตัดสินใจและการดำเนินการของกลไกคณะมนตรี IPEF และคณะกรรมาธิการร่วมจะเป็นไป โดยฉันทามติ และภาคีจะดำเนินการตามทรัพยากรที่มีและตามกฎหมายภายในของแต่ละภาคี
4. ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้ายเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Clean Economy) ประกอบด้วย 9 หมวด รวม 38 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ กรอบการระดมทุน นโยบาย มาตรการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำจัดคาร์บอน และเพิ่มการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การส่งเสริมเทคโนโลยีหรือแนวทางปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคคมนาคม เทคโนโลยีกำจัดก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรอย่างยั่งยืน การออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการ IPEF Clean Economy Committee เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้า พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคีจัดทำข้อเสนอโครงการความร่วมมือ Cooperative Work Program (CWP) ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสาร Standard Template เพื่อดำเนินโครงการร่วมกันตามความสมัครใจ
5. ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Fair Economy) ประกอบด้วย 4 หมวด รวม 35 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการด้านการต่อต้านการทุจริตและการบริหารจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งร่วมถึงการต่อต้านการให้สินบนและการฟอกเงิน การติดตามทรัพย์สินคืนจากการทุจริต การส่งเสริมความโปร่งใสของการเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงและในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการให้การคุ้มครองที่เหมาะสมแก่แรงงานข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่โปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุน ตถอดจนเสริมสร้างศักยภาพและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ภาคีในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและพันธกรณีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดการประชุมรายปีเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้า พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคีดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถตามกรอบ Capacity Building Framework (CBF) ผ่าน Technical Assistance and Capacity Building Coordination Group (TACBCG)
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับเป็นไปตามกรอบการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วยแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 มิถุนายน 2567
6111