ร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรมตามมาตรา 1672
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 May 2024 00:24
- Hits: 5122
ร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรมตามมาตรา 1672
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรม ตามมาตรา 1672 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
มท. เสนอว่า
1. การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง กำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน โดยกรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้น ลงไว้และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง และให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ โดยให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้อง แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ ตามมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ ตามมาตรา 1659 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพินัยกรรมจะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ ตามมาตรา 1660 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมและผนึกพินัยกรรม รวมทั้งลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกและนำไปแสดงต่อกรมการอำเภอ โดยมีพยานอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลว่าเป็นพินัยกรรมของตน
นอกจากนี้ มาตรา 1663 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ (เช่น ตกอยู่ในอันตราย ใกล้ความตาย) บุคคลสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้ โดยต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน โดยพยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้า และให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้
2. กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 16721 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
2.1 การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับโดยให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบของพนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอก็ได้ และกำหนดให้กรมการอำเภอเจ้าของท้องที่ซึ่งสถานที่ทำพินัยกรรมนั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีอำนาจรับทำพินัยกรรมในกรณีที่เป็นพินัยกรรมฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนอกที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ
2.2 การตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก การถอนการตัดมิให้รับมรดก การสละมรดก ให้ผู้ประสงค์จะแสดงเจตนาทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบของเจ้าพนักงานยื่นต่อกรมการอำเภอก็ได้
2.3 การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ได้แก่ ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 10 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับๆ ละ 5 บาท หากทำพินัยกรรมนอกที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 20 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับๆ ละ 10 บาท ค่าทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับฉบับละ 5 บาท เป็นต้น
2.4 ต่อมาได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียม เช่น ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 50 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับๆ ละ 10 บาท หากทำพินัยกรรมนอกที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ 100 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับๆ ละ 20 บาท ค่าทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับ ฉบับละ 20 บาท เป็นต้น
3. โดยที่กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งเละพาณิชย์ ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว มีถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เช่น มฤดก พะยาน พินัยกรรม์ กรมการอำเภอ เป็นต้น ประกอบกับในคราวประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 มีมติให้เร่งรัดการดำเนินการในกลุ่มของการยกเลิกใบอนุญาต ยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลดค่าธรรมเนียม โดยให้พิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมาย ซึ่ง ก.พ.ร. ได้ขอให้ดำเนินการเร่งรัดการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามมติของคณะอนุกรรมการฯ
4. มท. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวง ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยแบบพินัยกรรม ตามมาตรา 1672 เพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ รัฐรวมถึงการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแสดงเจตนาตัดหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกหรือสละมรดก และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมการรับมอบการเก็บรักษาเอกสาร ค่าคัดกรองและรับรองสำเนา ค่าป่วยการพยาน รวมทั้งล่ามที่อำเภอจัดหาให้ เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับพินัยกรรมหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพินัยกรรมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ มท. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
4.1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
4.2 กำหนดนิยามคำว่า “ที่ว่าการอำเภอ” “อำเภอ” และ “นายอำเภอ”
4.3 กำหนดเอกสารหลักฐานที่ผู้ประสงค์ทำพินัยกรรมต้องนำมาแสดงต่อนายอำเภอ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารสินทรัพย์ที่จะทำพินัยกรรม หนังสือแสดงเจตนาจัดการทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรม พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน เป็นต้น (เดิมกำหนดให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบของเจ้าพนักงานยื่นต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ)
4.4 กรณีมีเหตุสงสัยว่าผู้ขอทำพินัยกรรมเป็นบุคคลที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ (อายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นบุคคลวิกลจริต) นายอำเภอสามารถเรียกตรวจเอกสารหรือสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็นและให้บันทึกเหตุสงสัยไว้ในพินัยกรรมเพื่อเป็นหลักฐานด้วย (เดิมกำหนดให้กรมการอำเภอสอบสวนเหตุการณ์และรายละเอียดอันอาจเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถึงความสามารถตามกฎหมายผู้นั้นโดยทำเป็นบันทึกประกอบด้วย)
4.5 กำหนดแบบพิมพ์แนบท้ายร่างกฎกระทรวงสำหรับจดทะเบียนพินัยกรรม โดยให้มีข้อความตามที่กำหนด เช่น วัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมหรือที่นำพินัยกรรมมาจดทะเบียน ชื่อตัว - ชื่อสกุล และที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม วัน เดือน ปี ที่นายอำเภอส่งมอบพินัยกรรม เป็นต้น และอาจทำในรูปแบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้
5. กำหนดแบบการทำพินัยกรรมด้วยวาจาให้นำหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับมาบังคับใช้ด้วยโดยอนุโลม
6. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรม ดังนี้
ประเภทของพินัยกรรม |
อัตราค่าธรรมเนียมปัจจุบัน |
อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ |
ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ |
ฉบับละ 50 บาท สำเนาคู่ฉบับๆ ละ 10 บาท |
ฉบับละ 250 บาท สำเนาคู่ฉบับๆ ละ 50 บาท |
ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนอกที่ว่าการอำเภอ |
ฉบับละ 100 บาท สำเนาคู่ฉบับๆ ละ 20 บาท |
ฉบับละ 500 บาท สำเนาคู่ฉบับๆ ละ 50 บาท |
ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ |
ฉบับละ 20 บาท |
ฉบับละ 250 บาท |
ค่าทำหนังสือแสดงเจตนาตัด หรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกหรือสละมรดก |
ฉบับละ 20 บาท |
ฉบับละ 100 บาท |
ค่ารับมอบเก็บรักษาเอกสาร |
ฉบับละ 20 บาท |
ยกเลิก |
ค่าคัดและรับรองสำเนาพินัยกรรม |
ฉบับละ 20 บาท |
|
ค่าป่วยการพยานและล่ามที่ทางอำเภอจัดหา |
ไม่เกินวันละ 50 บาท |
|
__________________________
1 กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2481
2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2503
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51017