ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 23:54
- Hits: 5087
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
เรื่องเดิม
1. พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 22 บัญญัติให้ในกรณีที่ปรากฏว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤต หรือเป็นกรณีที่คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสงวน คุ้มครอง หรืออนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์หรือสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้าเพื่อขออนุมัติใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามมาตรา 23 และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นนั้น รวมถึงกำหนดประเภทของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครอง และกำหนดระยะเวลาที่จะใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าว ในกรณีที่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตพื้นที่ที่จะใช้มาตรการคุ้มครองด้วยก็ได้
2. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในพื้นที่บริเวณหมู่เกาะพยาม ประกอบด้วย เกาะพยาม เกาะขาม และเกาะนุ้ย ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง มีแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเลและสัตว์ทะเลหายาก ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล การทำประมง การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมทั้งจากการทิ้งขยะและน้ำเสียจากชุมชน ทำให้แนวปะการัง หญ้าทะเลและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายากถูกทำลายและได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤติ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสงวน คุ้มครอง และอนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์หรือสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทส. จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พ.ศ. .... เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อสงวน คุ้มครอง และอนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ รวมทั้งการสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในขณะนั้น สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. รับร่างประกาศตามข้อ 2 ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ท้ายร่างประกาศดังกล่าวให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศ
ทส. เสนอว่า
1. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการตามข้อ 3 โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้เสีย เช่น หน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย รวมทั้งได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว และกรมการปกครองได้ตรวจสอบร่างแผนที่ท้ายประกาศในเรื่องนี้ด้วยแล้ว เห็นว่า มีความสอดคล้องกับข้อมูลทะเบียนเกาะของแต่ละพื้นที่ และเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมชื่อร่างประกาศจากเดิมที่ระบุเพียงชื่ออำเภอเมือง เป็น “อำเภอเมืองระนอง”
2. ร่างประกาศในเรื่องนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดนิยาม เช่น “แนวทะเลชายฝั่ง” “ชายหาด” และ “กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ”
2.2 กำหนดให้หมู่เกาะพยาม ประกอบด้วย เกาะพยาม เกาะขาม และเกาะนุ้ย อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และพื้นที่ทะเลรอบเกาะดังกล่าว ภายในแนวเขตแผนที่ท้ายประกาศ เป็นพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ โดยจำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 บริเวณเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล และกำหนดหลักเกณฑ์ในแต่ละบริเวณ ดังนี้
2.2.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินของเกาะพยาม กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย หรือทำให้เกิดมลพิษ ห้ามกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดตะกอนลงสู่ทะเล ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อแนวปะการัง และห้ามวางร่ม โต๊ะ เตียงผ้าใบ หรือที่นั่งบนพื้นที่ชายหาด รวมถึงการขับขี่ยานพาหนะบนชายหาด ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด
2.2.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงมาจนถึงแนวปะการังตามธรรมชาติและบริเวณต่อเนื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ห้ามดำเนินกิจกรรมกีฬาทางน้ำหรือกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำที่มีหรืออาจมีผลกระทบกับบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่เป็นการดำเนินการในบริเวณที่อธิบดีประกาศกำหนด ห้ามทำการประมง เว้นแต่การทำการประมงด้วยเครื่องมือเบ็ด ห้ามทิ้งสมอในบริเวณแนวปะการัง
2.2.3 บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลและบริเวณต่อเนื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย หรือทำให้เกิดมลพิษที่เป็นการทำลาย ก่อให้เกิดความเสียหาย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแหล่งหญ้าทะเล สัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล หรือสัตว์ทะเลหายาก ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย หรืออาจเป็นอันตราย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแหล่งหญ้าทะเล สัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล หรือสัตว์ทะเลหายาก ห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนกระทุ้งน้ำ เบ็ดราวกระเบน และการใช้เครื่องปั๊มลมประกอบ
2.2.4 บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ออกไปภายในบริเวณเส้นตรงที่เชื่อมต่อจุดพิกัดตามประกาศนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย หรือทำให้เกิดมลพิษ กระทำหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการทำลาย หรือก่อให้เกิดความเสียหาย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง สัตว์น้ำในแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ซากปะการัง กัลปังหา หรือสัตว์ทะเลหายาก
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่การใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในราชการของกองทัพเรือ นอกจากนี้กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเรือท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ การจอดเรือกับทุ่น การห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงามตามบัญชีท้ายประกาศ
2.3 กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ กำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยจำแนกตามเขตการใช้ประโยชน์ และสนับสนุนโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน เยาวชน และกลุ่มอนุรักษ์ในการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งกำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ กำหนดพื้นที่จอดเรือ กำหนดพื้นที่เข้าออกของเรือ หรือพื้นที่อื่นใด กำหนดรูปแบบทุ่นจอดเรือ ทุ่นแสดงแนวเขตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้
2.4 กำหนดให้การดำเนินการตามประกาศนี้ มิให้ใช้บังคับกับการปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ หรือการดำเนินการหรือกิจกรรมใดเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ
2.5 กำหนดให้พื้นที่ในร่างประกาศนี้ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
2.6 กำหนดให้ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51014