ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 23:51
- Hits: 5275
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพลังงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไป
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศ
ทส. เสนอว่า
1. ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2559 ซึ่งประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศวันที่ 31 มีนาคม 2559 ดังนั้น มีผลใช้บังคับวันที่ 1 เมษายน 2559) และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ (สิ้นสุดการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2564)
2. ต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศตามข้อ 1 รวม 2 ฉบับ [(1) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2564 ให้มีผลใช้บังคับประกาศต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 (สิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2566) (2) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2566 ให้มีผลใช้บังคับประกาศต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 (สิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2568)] โดยประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาฯ ฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2568
3. เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ อย่างต่อเนื่องและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของชุมชน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาฯ ฉบับปัจจุบัน จะสิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ทส. จึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 44 และมาตรา 45 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขออนุมัติเข้าดำเนินการเพื่อใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นได้ และเพื่อกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากขึ้น โดยได้ปรับเปลี่ยนมาตรการจากประกาศเดิมตามตารางเปรียบเทียบมาตรการ ดังนี้
มาตรการตามประกาศฯ พ.ศ. 2559 |
มาตรการตามร่างประกาศฯ พ.ศ. .... |
|
1. กำหนดมาตรการควบคุมการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 20 ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 40 เมตร และต้องปลูกต้นไม้ยืนต้นและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง |
- กำหนดมาตรการควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่มีความลาดชัน ไม่เกินร้อยละ 35 ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน 40 เมตร รวมทั้งเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและต้องปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ |
|
2. ในพื้นที่เกาะพีพีดอนไม่ได้กำหนดมาตรการควบคุมการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารสำหรับผู้ที่มีที่ดินน้อย |
- ในพื้นที่เกาะพีพีดอนเพิ่มมาตรการควบคุมก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารสำหรับผู้ที่มีที่ดินน้อยกว่า 100 ตารางวา (ที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย) ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร |
|
3. การก่อสร้างโครงสร้างที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม กิจการสาธารณูปโภคของรัฐหรือกิจการสาธารณูปโภค ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ไม่ต้องขอรับความเห็นจากจังหวัดกระบี่เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาต |
- การก่อสร้างโครงสร้างที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม กิจการสาธารณูปโภคของรัฐ หรือกิจการสาธารณูปโภคที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ต้องขอรับความเห็นจากจังหวัดกระบี่เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาต และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง |
|
4. กำหนดมาตรการเกี่ยวกับโรงงาน เช่น โรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิด เว้นแต่ โรงงานจำพวกที่ 1 ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 200 เมตร |
- ตัดมาตรการเกี่ยวกับโรงงานออก เนื่องจากมีกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนดไว้แล้ว |
|
5. ในการก่อสร้างโรงงาน ไม่ได้กำหนดให้โรงงานต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษ หรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด |
- ในการก่อสร้างโรงงาน เพิ่มมาตรการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมโดยโรงงานต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด |
|
6. การทำเหมืองไม่ต้องเสนอขอรับความเห็นจากจังหวัดกระบี่เพื่อประกอบการขออนุญาต |
- การทำเหมืองต้องเสนอขอรับความเห็นจากจังหวัดกระบี่เพื่อประกอบการขออนุญาต |
|
7. ในการก่อสร้างอาคาร โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม ไม่มีข้อกำหนดท้ายประกาศเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม |
- เพิ่มมาตรการก่อสร้างอาคาร โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่มีจำนวนห้องพัก 11 – 49 ห้อง ต้องดำเนินตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามท้ายประกาศฯ |
|
8. โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่มีจำนวนห้องพัก 30 – 79 ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination :IEE) |
- โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่มีจำนวนห้องพัก 50 – 79 ห้อง ต้องจัดทำรายงาน IEE |
4. ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอของจังหวัดกระบี่ 5 อำเภอระหว่างวันที่ 23 – 25 ธันวาคม 2562 รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองท่อม อำเภอเกาะลันเตา และอำเภอเหนือคลอง และระหว่างวันที่ 21 – 22 มกราคม 2563 รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภออ่าวลึก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 577 คน และได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาวิเคราะห์จัดทำร่างประกาศฯ เสนอทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ก่อนนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศฯ และให้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป พร้อมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ โดยมีหลักฐานการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายแล้ว
5. ในคราวประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับร่างประกาศดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้ง ทส. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย) โดยกรมการปกครองได้ตรวจสอบแผนที่ท้ายประกาศฯ แล้วพบว่า แนวเขตการปกครองที่ปรากฏในแผนที่ท้ายประกาศดังกล่าวสอดคล้องกับคำบรรยายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กำหนดให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดกระบี่เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2526 พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2539 พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในท้องที่บางแห่งในจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล พ.ศ. 2534 เฉพาะท้องที่ในจังหวัดกระบี่ และพื้นที่ภายในแนวเขตทะเลชายฝั่งตามกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งในบริเวณจังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2565 ที่ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กำหนดเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 บริเวณ ดังนี้
2.1 บริเวณที่ 1 เขตอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งไม่รวมป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์
2.2 บริเวณที่ 2 เขตน่านน้ำทะเล ตามข้อ 3 (1) (2) และ (4) ยกเว้น พื้นที่บริเวณที่ 1
2.3 บริเวณที่ 3 พื้นที่เกาะต่างๆ ยกเว้น พื้นที่บริเวณที่ 1
2.4 บริเวณที่ 4 พื้นที่นอกจากบริเวณที่ 1 ถึงบริเวณที่ 3 ยกเว้น พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่
3. กำหนดการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ในเขตพื้นที่ตามข้อ 2. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
3.1 พื้นที่ต้องมีความลาดชันตามปกติตามธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 35
3.2 พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน 40 เมตร ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร สำหรับอาคารทรงจั่วให้มีความสูงได้ไม่เกิน 9 เมตร โดยมีความสูงจากพื้นดินถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดต้องไม่เกิน 6 เมตร
3.3 พื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35 ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และให้ปรับระดับตามแนวนอนต่อแนวดิ่งได้ในอัตราส่วนไม่เกิน 2 : 1 ส่วน และห้ามปรับระดับโดยการขุดดินหรือถมดิน ลึกหรือสูงเกิน 1 เมตร และมิให้เคลื่อนย้ายหรือทำลายหินดานทั้งที่อยู่ใต้พื้นดิน ระดับพื้นดิน หรือโผล่เหนือพื้นดิน
3.4 พื้นที่ว่างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนด จะต้องมีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีพื้นที่สีเขียวยั่งยืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก
3.5 พื้นที่เกาะพีพีดอน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
3.5.1 พื้นที่เกาะพีพีดอนในระยะต่อจากพื้นที่ตามกฎกระทรวง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอเกาะลันตา อำเภอคลองท่อม อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เข้าไปในแผ่นดินทั้งหมด ที่ไม่ใช่พื้นที่ตามข้อ 3.5.2 และ 3.5.3 ให้ทำได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต โดยพื้นที่ว่างดังกล่าวต้องเป็นที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้นั้น
3.5.2 พื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 35 ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร ขนาดที่ดินแปลงที่ขออนุญาตต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา มีพื้นที่อาคารคลุมดินแต่ละหลังไม่เกิน 90 ตารางเมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต โดยพื้นที่ว่างดังกล่าวต้องเป็นที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้นั้น
3.5.3 ที่ดินที่มีพื้นที่น้อยกว่า 100 ตารางวา ให้ทำได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนด (5) จะต้องมีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
3.5.4 พื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 ห้ามปรับสภาพพื้นที่ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ
3.6 การวัดความสูงของอาคารให้เป็นไปตามกรณีพื้นที่ราบที่ไม่มีการปรับระดับพื้นดินหรือมีการปรับระดับพื้นดินต่ำกว่าถนนสาธารณะในบริเวณที่ก่อสร้าง ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง กรณีที่มีการปรับระดับพื้นดินเท่ากับหรือสูงกว่าถนนสาธารณะ ให้วัดจากระดับถนนสาธารณะ กรณีที่มีห้องใต้ดินซึ่งค่าระดับเป็นลบ ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างหรือระดับถนนสาธารณะแล้วแต่กรณี และกรณีที่พื้นดินเป็นเชิงลาดหรือมีการปรับระดับพื้นดินบนพื้นที่เชิงลาด ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ณ จุดที่ต่ำที่สุดของพื้นที่ใช้สอยของอาคารหลังนั้น
3.7 โครงสร้างที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม กิจการสาธารณูปโภคของรัฐ หรือกิจการสาธารณูปโภคที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ต้องได้รับความเห็นจากจังหวัดกระบี่ เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาต และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 และบริเวณที่ 4 ห้ามกระทำการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และการทำให้เกิดมลพิษ ขยะมูลฝอย สารแขวนลอย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น
5. กำหนดให้ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ 2. เป็นอาคาร หรือประกอบกิจการโรงเรือนหรืออาคารที่ใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าหรือเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และอาคารนกแอ่นกินรัง เว้นแต่บริเวณพื้นที่ที่จังหวัดกระบี่กำหนดให้ดำเนินการได้ รวมถึงโรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษ หรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
6. กำหนดให้การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ โดยรอบเขตโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในระยะ 100เมตร ต้องมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร
7. กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย โดยต้องบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพน้ำทิ้งตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยลงสู่ท่อหรือทางน้ำสาธารณะ และการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีลักษณะเป็นการขยายขนาดพื้นที่อาคารหรือเพิ่มจำนวนห้องพัก หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมต้องดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมท้ายประกาศนี้
8. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
9. กำหนดให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระบี่ ทำหน้าที่ดูแล ติดตามตรวจสอบ ประสาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามประกาศนี้ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตลอดจนประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือแผนงานและงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
10. กำหนดให้พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
11. กำหนดให้การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ ถ้าได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตนั้น ทั้งนี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะพื้นที่เดิมที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามที่ประกาศนี้กำหนด
12. กำหนดให้ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันที่ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51013