ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 23:35
- Hits: 5215
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาและพบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคในหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ภาครัฐไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาระบบสมาร์ท กริด ด้านความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำยังประสบปัญหาความผันผวนตามธรรมชาติ ด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีการสื่อสาร อาทิ แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายไฟฟ้ายังไม่มีความเป็นเอกภาพในการพัฒนา ด้านกฎหมาย การแก้กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การขออนุญาตในการดำเนินการต่างๆ ยังไม่มีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจากปัญหาอุปสรรคข้างต้นส่งผลให้การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในประเทศยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและไม่สามารถพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงได้เท่าที่ควร ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 5 หน่วยงาน และ (2) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ในขณะนั้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พน. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
พน. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ และสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 5 หน่วยงาน |
||
1.1 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เช่น ควรพิจารณาผลักดันหรือดำเนินการในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน AI (Artificial intelligence technologies) ควรกำหนดรายละเอียดของแผนการขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริดให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัดเข้าร่วมในการพัฒนาระบบฯ |
● สนพ. ได้ดำเนินการต่างๆ ตามแผนการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพลังงาน โดยได้มีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตอบสนองด้านโหลด (Demaznd Response : DR ) และระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) นอกจากนี้จะมีการพิจารณานำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบริหารจัดการในกิจการไฟฟ้า ● สนพ. ได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง และ สนพ. จะมีการพัฒนากระบวนการติดตามการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการบูรณาการการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านสมาร์ทกริดเพิ่มมากขึ้น |
|
1.2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เช่นควรปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการกำกับดูแล เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ท กริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 ให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม |
● สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code TPA Code) โดยมีการดำเนินการ ดังนี้ ระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ. เห็นว่ารายละเอียดเนื้อหาของร่าง TPA Code ของแต่ละการไฟฟ้ายังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการไฟฟ้าแต่ละแห่งมีแนวคิดที่ต่างกันทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและอัตราค่าบริการ สำนักงาน กกพ. จะต้องมีการศึกษาร่วมกับ กฟผ. กฟน และ กฟภ. เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจร่วมกันและจะได้จัดทำร่าง TPA Code ให้มีความสอดคล้องกันโดยไม่เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ระยะที่ 2 สำนักงาน กกพ. จะนำรูปแบบตลาดซื้อขายไฟฟ้าตามข้อเสนอของ สนพ. มาใช้เป็นกรอบการจัดทำ TPA Code ระยะที่ 2 และจะได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการ TPA Code ต่อไป ระยะที่ 3 เป็นระยะของการดำเนินการภายหลังจากดำเนินการนำร่าง TPA Code ตามข้อเสนอของ สนพ. แล้ว โดยสำนักงาน กกพ. จะศึกษารูปแบบของ TPA Framework และ TPA Code เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการในระยะถัดไป |
|
1.3 กฟผ. เช่น ควรพยากรณ์การผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ครอบคลุม ถึงผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (VSPP) ควรพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ |
● กฟผ. ได้ดำเนินการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เสร็จแล้ว และมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง กฟผ. มีแนวคิดที่จะขยายการดำเนินการพยากรณ์ไปยังกลุ่ม VSPP ตั้งแต่ปี 2565 ● กฟผ. อยู่ระหว่างการศึกษาโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plan :VPP) โดยการนำแบตเตอรี่ในระดับโครงข่ายไฟฟ้า (Grid scale) มาทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทกำลังการผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนจะช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 700,000- 800,000 ตันต่อปี ● กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ได้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก) ไว้แล้ว รวมทั้งได้มีการประสานข้อมูลกับ สนพ. เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศึกษาการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า |
|
1.4 กฟน. เช่น ควรเปิดกว้างให้สามารถเลือกใช้มิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างหลากหลาย |
● กฟน. ในปัจจุบันได้อยู่ระหว่างการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำข้อกำหนดกลาง โดยเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตมิเตอร์สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ได้หลายราย ไม่เกิดการผูกขาดและมีการแข่งขันด้านราคา ● กฟน. ได้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลจากโครงการ Smart Metro Grid กับ Application เพื่อใช้ในการบริการข้อมูลต่างๆ เช่นให้บริการข้อมูลการใช้ไฟฟ้า 15 นาที ผ่าน Application Smart Life ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้ลดลง แจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องพร้อมระยะเวลาแก้ไขผ่าน Application Smart Life ● กฟน. ได้มีการส่งเสริมพนักงานเพื่อรองรับการปฏิบัติงานเกี่ยวกับสมาร์ทกริด ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ให้ทุนศึกษาระดับปริญญาโท - เอก สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน และพัฒนาระบบสมาร์ทกริดในภาพรวมของ กฟน. เชิญบริษัทมาแนะนำเทคโนโลยี รวมถึงส่งพนักงานไปศึกษาดูงาน และเข้าร่วมสัมมนาอย่าต่อเนื่อง |
|
1.5 กฟภ. เช่น ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ในประเทศและจัดทำเป็นแผนนำร่องการพัฒนาโครงการสมาร์ทกริด โดยคำนึงถึงแหล่งพลังงานในท้องที่นั้นๆ เมื่อมีการนำมิเตอร์อัจฉริยะมาใช้ ผู้จำหน่ายไฟฟ้าควรบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้ลดลง |
● กฟภ. ในปัจจุบันการดำเนินโครงการนำร่องของ กฟภ. ได้มีการจัดลำดับความสำคัญรวมทั้งได้มีการพิจารณาแหล่งพลังงานในพื้นที่นั้นๆ ว่าจะมีแหล่งพลังงานใดบ้างที่ กฟภ. จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ กฟภ. พิจารณาจะเป็นเรื่องของการจ่ายไฟฟ้าและความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยในอนาคต กฟภ. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการสมาร์ทกริดและไมโครกริดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่ง กฟภ. จะพิจารณาเลือกดำเนินการในพื้นที่ที่มีศักยภาพและเมื่อมีการติดตั้งระบบสมาร์ทมิเตอร์และมีระบบไมโครกริดแล้วจะต้องสามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในอนาคตได้ ● กฟภ. มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในประเด็นของการนำข้อมูลสมาร์ทมิเตอร์มาใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า และเป็นทิศทางที่ กฟภ. อยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากการดำเนินการของ กฟภ. จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้ทั้งการลดการไฟฟ้าสูงสุดและลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ลงทุนไปแล้วได้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น |
|
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย |
||
2.1 ด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น ควรมีการศึกษาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ ดำเนินการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ศึกษารูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด |
● สนพ. ภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง สนพ. ได้มีการประมาณกรอบงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดไว้แล้วซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพลังงานแต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่แต่ละหน่วยงานจะดำเนินการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดจริงๆ ก็สามารถปรับปรุงกรอบงบประมาณให้มีความเหมาะสมในการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาได้ ● สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่ง จะได้มีการพิจารณารูปแบบของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ● กกพ. จะดำเนินการศึกษารูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อใช้ประกอบการกำหนดกติกา หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น TPA, ผู้รวบรวมโหลด (Load Aggregator), ธุรกิจใหม่ๆ จากการเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ● กฟผ. ได้ดำเนินการคำนวณค่าใช้จ่ายๆ รวมทั้งได้มีการศึกษาการลดต้นทุนในการดำเนินการด้านสมาร์ทกริดมาโดยตลอดและในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสมาร์ทกริด กฟผ. ได้สนับสนุนข้อมูลต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับ สนพ. ● กฟผ. และ กฟภ. จะมีการดำเนินโครงการนำร่องระบบสมาร์ทกริดร่วมกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จะทำงานร่วมกันโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือร่วมกันในการออกแบบระบบต่างๆ ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะมีโครงการสมาร์ทกริดอื่นๆ ที่จะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน. เพื่อจะพัฒนาระบบสมาร์ทกริดให้สามารถช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย |
|
2.2 ด้านความมั่นคงของระบบ เช่น ควรมีการประกาศเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ กฟภ. สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ควรมีการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม |
● สนพ. ได้พัฒนาสมาร์ทกริดภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลางโดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความชาญฉลาดและมีความยืดหยุ่นให้สามารถรองรับการเข้ามา ของพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ ต่างๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะได้เพิ่มมากขึ้น ● กฟผ. ได้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและมีการประสานงานระหว่างทั้ง 3 การไฟฟ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการบูรณาการฯ มาช่วยพิจารณาการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการลงทุน ● กฟภ. ได้มีแนวทางการประกาศเขตโครงข่ายไฟฟ้าในพื้นที่เขตอุทยานมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ กฟภ. ขอรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงานไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การประกาศเขตโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ. จะเป็นการประกาศในพื้นที่ที่มีการวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำเป็นหลัก เพื่อต้องการการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 |
|
2.3 ด้านเทคโนโลยี เช่น ควรมีนโยบายดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ที่ปรึกษา ด้านสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยส่งเสริมการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาร์ทกริดในประเทศ |
● สนพ. ภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง ได้กำหนดเป้าหมายดำเนินการต่างๆ เช่น มีการดำเนินโครงการนำร่องในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการซื้อขายพลังงาน เช่น P2P (Peer to Peer) Trading และในระยะยาวได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ได้อย่างอิสระผ่านแพลตฟอร์มที่ควบคุมโดยภาครัฐ ผ่านเทคโนโลยี Blockchain และ P2P เป็นต้น ทั้ง สนพ. จะได้มีการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไป ● กฟผ. ในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูงอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่ที่มีระบบไฟฟ้ามั่นคงและมีการให้บริการไฟฟ้าดีที่สุด ซึ่งการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นอีกครั้ง ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ กฟผ. จะมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีความต้องการ ESS ในการรองรับความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า EEC เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ● กฟน. ในการพัฒนาระบบ ESS กฟน. จะเป็นการดำเนินการในลักษณะของโครงการนำร่อง เพื่อดำเนินการศึกษาในการนำระบบ ESS มาช่วยในเรื่องของความน่าเชื่อถือได้ของระบบ (Reliability) และความมั่นคงของระบบจากการที่มี Solar เข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก โดยการดำเนินการจะยังคงเป็นลักษณะนำร่องไปก่อน เพื่อเตรียมระบบต่างๆ รองรับไว้ เนื่องจากปัจจุบันระบบ ESS มีความคุ้มค่าเมื่อใดจะสามารถนำมาใช้งานได้มากขึ้น ● ดศ. ในการพัฒนาต่อยอดด้าน Big Data และ AI จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการพัฒนา Big Data และ AI โดย สวข. สามารถช่วยให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการทำ Prototype เกี่ยวกับ Big Data และ AI ที่จะนำมาใช้ในระบบสมาร์ทกริดได้สำหรับในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์มสามารถประหารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในขณะที่ NT ก็มีความพร้อมในการพัฒนาด้านแพลตฟอร์มเช่นกัน ● อว. ในข้อเสนอด้านเทคโนโลย์ในหลายๆ ด้าน ทั้ง P2P และส่วนอื่นๆ ภาคเอกชนอาจจะมีการดำเนินการไปบางส่วนแล้ว จึงควรเชิญภาคเอกชนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อแผนการพัฒนาด้านสมาร์ทกริดของประเทศในภาพรวมมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาทั้งส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนในขณะเดียวกันภาคเอกชนจะได้มาช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสมาร์ทกริดของประเทศด้วย |
|
2.4 ด้านกฎหมาย เช่น กำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็วต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี |
● กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาในการจัดทำใบอนุญาต 1 ใบที่สามารถเปิดให้ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตดังกล่าวได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องของใบอนุญาตสำหรับการดำเนินธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต ● สนพ. ได้กำหนดนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจาก Solar ในรูปแบบ Net Metering และหาข้อสรุปด้านภาษีร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ และกำหนดแนวทางให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับไปดำเนินการ |
|
2.5 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าจึงควรผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เข้าไปใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคง ลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ |
● สนพ. พื้นที่ภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ให้มีความมั่นคงอยู่แล้วโดยการดำเนินการในระยะต่อไปอาจจะต้องมุ่งไปที่การพัฒนาระบบต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และอาจมีการนำระบบสมาร์ทกริดมาช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้ามากกว่าการรองรับพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ภาคใต้มีน้อย ● สนพ. ได้พัฒนาระบบสมาร์ทกริดภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง โดยจะมีการดำเนินการในทุกภูมิภาคของประเทศไทยและพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ กฟผ. และ กพภ. จะดำเนินการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51009