มาตรการและแนวทางการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 23:19
- Hits: 4724
มาตรการและแนวทางการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการในการดำเนินมาตรการและแนวทางการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะโดยมอบหมายให้ กต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
2. เห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 4 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินหกสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ
2.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง
2.3 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ความเห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวและทำงานทางไกล เป็นกรณีพิเศษ
2.4 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อศึกษาและทำงาน เป็นกรณีพิเศษ
3. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
4. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 4 ฉบับ
5. มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการเพื่อให้ระบบ Auto-gate มีความสมบูรณ์และพร้อมใช้งานสำหรับระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) ที่จะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน 2568
6. เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราโดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดย กต. จะเสนอคำสั่งแต่งตั้งเพื่อนายกรัฐมนตรีลงนามและแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
7. เห็นชอบในหลักการเพื่อขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังในการอนุญาตให้ กต. หักเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการกงสุล ในอัตราร้อยละ 50 หรือไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการกงสุล ตั้งแต่งบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป (ปัจจุบันหักเก็บรายได้ในอัตราร้อยละ 30)
ข้อเท็จจริงและร่างประกาศ รวม 4 ฉบับ
กต. เสนอว่า
1. ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนของการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของนักท่องเที่ยว และการประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาล จึงมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Travelling) ดังนี้
1.1 ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน
1.2 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้าประเทศ
1.3 สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
1.4 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้คนที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกัน โดยที่มาตรการการตรวจลงตราเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพที่มีความประสงค์จะประกอบธุรกิจ ลงทุน ทำงาน หรือใช้ชีวิตในราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ กต. ทบทวนมาตรการการตรวจลงตราและแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าวที่ประสงค์เดินทางเข้าราชอาณาจักร
2. ที่ผ่านมาประเทศไทยมิได้มีการปรับปรุงมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรามาเป็นระยะเวลา 22 ปีแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์โลกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่างๆ ส่วนมากได้เริ่มดำเนินการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ได้นำคณะกระทรวงการต่างประเทศเข้าพบและหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรา ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์เดินทางเข้าราชอาณาจักร บนหลักการ 4 ประการ ได้แก่ (1) การเปิดกว้างและอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองของคนต่างด้าวโดยดำเนินการอย่างสมดุลกับการคัดกรอง (2) การปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนให้ง่ายและสะดวกขึ้น (3) การพัฒนาระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) และการขยายพื้นที่การให้บริการ (4) การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองและการใช้ระบบ Single Window Submission โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบต่อมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราทั้ง 3 ระยะ และมีบัญชาให้ กต. นำข้อสั่งการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. มาตรการและแนวทางการตรวจลงตรา ตามข้อ 3. ที่ กต. เสนอมีทั้งหมด 3 ระยะ สรุปได้ดังนี้
4.1 มาตรการระยะสั้น (ประกอบด้วย 5 มาตรการ เริ่มใช้เดือนมิถุนายน 2567) ได้แก่
4.1.1 การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ ผ.60 จะคำนึงถึงหลักประติบัติต่างตอบแทน มิติด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และพันธกรณีที่ไทยได้ทำความตกลงทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี จำนวน 93 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ อันดอร์รา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บาห์เรน บรูไน แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฯลฯ ประกอบด้วย
(1) ประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย1 และ
(2) เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่
(2.1) รายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA) จำนวน 13 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐบัลแกเรีย สาธารณรัฐไซปรัส สาธารณรัฐฟีจี จอร์เจีย สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐมอลตา สหรัฐเม็กซิโก รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี โรมาเนีย สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และไต้หวัน
(2.2) รายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับสิทธิตามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยได้น้อยกว่า 60 วัน จำนวน 6 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเก๊า มองโกเลีย สหพันธรัฐรัสเซียและราชอาณาจักรกัมพูชา
(2.3) รายชื่อประเทศ/ดินแดนไม่เคยได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราและตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA) จำนวน 17 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐแอลเบเนีย สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐโครเอเชีย สาธารณรัฐคิวบา เครือรัฐดอมินีกา สาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณรัฐ เอกวาดอร์ สาธารณรัฐกัวเตมาลา จาเมกา ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน สาธารณรัฐคอซอวอ ราชอาณาจักรโมร็อกโก สาธารณรัฐปานามา สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ราชอาณาจักรตองกา และ สาธารณรัฐโอเรียนทัลอุรุกวัย
4.1.2 การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ VOA จะคำนึงถึงหลักประติบัติต่างตอบแทน มิติการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และการไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น
4.1.3 เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) โดยมีนายจ้างและลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและใช้บริการทางการแพทย์ แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราที่รองรับคนต่างด้าวกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
4.1.4 การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ
4.1.5 ควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกระทรวงเเรงงาน เป็นกรรมการ และมีหน้าที่ในการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา การตรวจลงตราของประเทศ ตลอดจนการกลั่นกรองการเสนอการตรวจลงตราประเภทใหม่ และลดขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเมือง รวมทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้กระบวนการด้านการตรวจลงตราและการเข้าเมืองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้มาตรการและแนวทางตามข้อ 4.1.1 – 4.1.4 บรรลุเป้าประสงค์ตามนโยบายของรัฐบาลอันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมาก และหลายประเทศได้นำมาตรการการตรวจลงตรามาใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนคนต่างด้าวที่มีศักยภาพที่นิยมการทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) จึงเห็นควรยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง รวม 4 ฉบับ ดังนี้
ร่างประกาศ |
สาระสำคัญ |
|
1. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินหกสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ |
- เป็นการกำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ อันดอร์รา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บาห์เรน บรูไน แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฯลฯ (เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ) |
|
2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง |
- เป็นการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) จำนวน 31 ประเทศ/ดินแดน ได้แก่ อาร์เมเนีย เบลารุส บัลแกเรีย ภูฏาน โบลิเวีย จีน คอสตาริกา ไซปรัส เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย ฟีจี จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซ มอลตา เม็กซิโก นามิเบีย นาอูรู ปาปัวนิวกินี ปารากวัย ฯลฯ (เดิม จำนวน 19 ประเทศ) |
|
3. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวและทำงานทางไกล เป็นกรณีพิเศษ |
- เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) มีคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ ดังนี้ 1. คนต่างด้าวประสงค์จะเดินทางมาพำนักเพื่อการท่องเที่ยวระยะยาวและทำงานทางไกล ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะสูง (foreign talent) และกลุ่มอาชีพอิสระ (digital nomad/freelancer) หรือ (2) ประสงค์เข้ามาพำนักเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การเรียนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัว การเรียน ทำอาหาร การเรียนและฝึกซ้อมกีฬา การรักษาพยาบาล การอบรม การสัมมนา การจัดแสดงศิลปะ และดนตรี (ปัจจุบันสามารถขอได้เพียงประเภทนักท่องเที่ยวพำนักได้ 60 วัน และอยู่ได้ครั้งเดียว 30 วัน เท่านั้น การตรวจลงตรา DTV จึงตรงกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว) 2. ผู้ติดตามของคนต่างด้าวตาม 1. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี 3. คนต่างด้าวจะต้องมีหลักฐานทางการเงิน หรือหลักฐานการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเดินทางหรือมีผู้ค้ำประกันวงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ตลอดระยะเวลาพำนักในประเทศไทย 4. สิทธิประโยชน์ ได้รับการตรวจลงตราประเภท DTV สามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 10,000 บาท อายุการตรวจลงตรา 5 ปี และมีสิทธิขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 180 วัน โดยชำระค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเทศได้ โดยการตรวจลงตราเดิมจะสิ้นสุด |
|
4. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อศึกษาและทำงาน เป็นกรณีพิเศษ |
1. เป็นการปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED 2. เป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ ดังนี้ 2.1 ขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยได้ แทนที่จะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีที่สำเร็จการศึกษา โดยต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายมาแสดง เมื่อได้รับการจ้างงานในประเทศไทยก็สามารถติดต่อกรมการจัดหางานเพื่อขอใบอนุญาตทำงานและติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์การตรวจลงตราจากเพื่อการศึกษา (Non-Immigrant รหัส ED) เป็นการตรวจลงตราเพื่อทำงาน (Non-Immigrant รหัส B) ได้ โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย 2.2 ให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแทนนักศึกษาจนจบหลักสูตร และให้ยกเลิกการขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ซึ่งนักศึกษาต้องยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้งก่อนเดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อรักษาสิทธิการได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย |
4.2 มาตรการระยะกลาง (ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้เดือนกันยายน – เดือนธันวาคม 2567) ได้แก่
4.2.1 จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567 ดังนี้
(1) ประเภท Non-Immigrant รหัส B (Business)
(2) ประเภท Non-Immigrant รหัส ED (Education)
(3) ประเภท Non-Immigrant รหัส F (Official)
(4) ประเภท Non-Immigrant รหัส M (Mass Media)
(5) ประเภท Non-Immigrant รหัส O (Others)
(6) ประเภท Non-Immigrant รหัส L-A (Labor)
(7) ประเภท Non-Immigrant รหัส O (L-A)
4.2.2 ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพำนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567 ดังนี้
(1) ปรับลดเงินประกันสุขภาพสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) รหัส 0-A จากเดิมจำนวน 3,000,000 บาท ให้เหลือเท่าก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คือ 40,000 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก และ 400,000 บาท สำหรับผู้ป่วยใน
(2) เพิ่มประเทศ/ดินแดนที่คนต่างด้าวสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) รหัส 0-X เพื่อพำนักระยะยาวในประเทศไทยจากเดิม 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาโดยให้เพิ่มประเทศ/ดินแดนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์จะเข้ามาเพื่อการพำนักระยะยาว
4.2.3 ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ปัจจุบัน กต. ให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567
4.3 มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยมีรายละเอียด ดังนี้
4.3.1 เงื่อนไขการเปิดใช้ระบบ ETA ประกอบด้วย
(1) เฉพาะคนต่างด้าวที่ไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศไทย
(2) ขอรับ ETA ทุกครั้งที่เข้าประเทศไทย
(3) เมื่อถึงสนามบินสามารถสแกน QR Code เพื่อใช้ช่อง Auto-gate ที่สนามบิน
(4) สามารถขอรับตั้งแต่ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางหรือก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง
(5) ไม่มีค่าธรรมเนียม
(6) อื่นๆ ตามที่ กต. กำหนด
4.3.2 บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่
(1) ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางของสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer)
(2) ผู้ใช้ Border Pass ในการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านพรมแดนทางบกและทางน้ำ
(3) อื่นๆ ตามที่ กต. กำหนด
4.3.3 กรอบระยะเวลาในการเปิดให้บริการระบบฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เปิดระบบให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2567 (ระบบ ETA ชั่วคราว) พร้อมระบบ e-Visa ที่จะครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะยกเว้นให้ผู้ถือหนังสือเดินทาง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ที่เดินทางข้ามแดนทางบกไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ ETA
ระยะที่ 2 ภายในเดือนมิถุนายน 2568 เป็นระบบ ETA ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะรวมระบบ e-Visa และระบบ ETA ไว้ในระบบเดียวกัน (Single Window Submission) โดยคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าประเทศไทยทุกคน ซึ่งรวมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
5. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 กต.ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา ตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมมีมติรับทราบข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและไม่มีข้อขัดข้องในหลักการต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเห็นควรให้ปรับเพิ่มเงื่อนไขหลักฐานทางการเงินสำหรับผู้ที่ประสงค์ยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภท Destination Thailand Visa (DTV) เป็น 500,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนต่างด้าวมีปัจจัยยังชีพตามสมควร สำหรับการพำนักอยู่ในประเทศตามวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา และให้มีการจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องต่อไป ประกอบกับเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 กต. ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 4 ฉบับ ด้วยแล้ว
6. ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการและแนวทางตามที่ กต. เสนอในครั้งนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ที่นำรูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรามาเป็นมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนี้
6.1 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา การตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง การตรวจลงตราประเภทใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวของรัฐบาล
6.2 กลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่นๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีศักยภาพเหล่านี้อาจพิจารณาประกอบธุรกิจในไทยในระยะยาว ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์รวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ มาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในไทย ช่วยสร้างและกระจายรายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น
6.3 สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567
7. กต. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และ 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สรุปได้ดังนี้
7.1 การกำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วันเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 93 สัญชาติ จะสูญเสียรายได้เเผ่นดินประมาณ 12,300 ล้านบาทต่อปี (เทียบเคียงจากจำนวนนักท่องเที่ยว 93 สัญชาติ ปี 2566) แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival (VOA) จำนวน 4.5 ล้านคน (4,000 ล้านบาท) ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (TR) จำนวน 3,300 ล้านบาท
7.2 ในกรณีของการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ที่นักศึกษาต้องไปยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้งก่อนเดินทางออกนอกประเทศไทย คาดการณ์ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้แผ่นดินประมาณ 152 ล้านบาท จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยในปี 2566 ประมาณ 40,000 คน
___________________
1 ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ฉบับที่ 2)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51006