มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 23:04
- Hits: 5057
มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา1 ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) (มาตรการฯ) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอ
ทั้งนี้ ให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 มิถุนายน 2566) รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของ กสศ. ซึ่งรวมถึงผลการดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวม 12 จังหวัด เพื่อส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้เกิดเป็นนวัตกรรมการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือดูแลช่วยเหลือตามความเหมาะสมรายกรณี รวมทั้ง ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาพื้นที่ตัวแบบตาม “โครงการมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดราชบุรี (Zero Dropout)”2
สาระสำคัญของเรื่อง
กสศ. รายงานว่า
1. กสศ. ได้เริ่มดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปี 2562 – 2563 เพื่อพัฒนาตัวแบบการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยดำเนินการครอบคลุม 20 จังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก สุราษฎร์ธานี สงขลา และพบข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ (1) ไม่มีข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาหรือมีข้อมูลแต่ขาดความสมบูรณ์และไม่เพียงพอที่จะใช้ในการค้นหา ติดตาม ช่วยเหลือ ดังนั้น กสศ. จึงได้ประสานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอข้อมูลเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา และนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเด็กและเยาวชนไทยในช่วงอายุเดียวกันที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา จำนวน 800,000 คน (ในขณะนั้น) ซึ่งคณะทำงานจังหวัดสามารถติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้ประมาณ 20,000 คน (2) บทบาทของคณะทำงานระดับจังหวัดยังไม่มีกฎหมายรองรับหรือสนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (3) การค้นหา ช่วยเหลือเด็ก เยาวชนรายกรณี โดยเครือข่ายสหวิชาชีพระดับตำบลอยู่ภายใต้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
2. นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) มท. ศธ. และ กสศ. บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลและทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา3 ซึ่งต่อมาได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 และหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 1,025,514 คน4 แบ่งเป็น (1) เด็กและเยาวชนภาคบังคับ จำนวน 394,039 คน และ (2) เด็กปฐมวัยหรือสูงกว่าภาคบังคับ จำนวน 631,475 คน โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลของคณะทำงานความร่วมมือในระดับพื้นที่ต่อไป ต่อมานายกรัฐมนตรีได้กล่าวในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 สรุปได้ว่า รัฐบาลมุ่งมั่นให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษาและมุ่งบรรลุเป้าหมาย Thailand Zero Dropout เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาการเรียนที่ยืดหยุ่นให้ตรงตามความต้องการ เน้นทักษะอาชีพและทักษะชีวิต และให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณค่าต่อไป ทั้งนี้ จะบรรลุผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เกิดระบบสารสนเทศแสดงข้อมูลของเด็ก เยาวชนทุกคนในระบบการศึกษา โดยเฉพาะข้อมูลของเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนและต้องการโอกาส
3. กสศ. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พม. ดศ. มท. ศธ. และ สธ. เมื่อเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (ตามข้อ 2) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ5 และเห็นชอบให้ กสศ. เสนอมาตรการฯ ต่อคณะรัฐมนตรี
4. คณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบร่างมาตรการฯ จำนวน 4 มาตรการ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
มาตรการ |
หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง |
|
(1) มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดังนี้ |
||
1) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลของ ศธ. ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ มท. รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานอื่น |
มอบหมายให้ ดศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พม. มท. ศธ. สธ. |
|
2) พัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและการค้นหาให้มีประสิทธิภาพและแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติต่อไป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ |
คณะกรรมการกลางระดับชาติ6 |
|
(2) มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม |
||
1) จัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน |
คณะกรรมการระดับจังหวัด7 |
|
2) ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการช่วยเหลือและส่งต่อสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี (Case Management System: CMS)8 และการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานระดับพื้นที่อาจจะดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการแบบเบ็ดเสร็จระดับตำบล “ศูนย์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับตำบล” โดยให้อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลหรือเทศบาล |
มอบหมายให้ มท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. ศธ. สธ. และ กสศ. |
|
(3) มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น9 มีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง |
||
1) จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย |
มอบหมายให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาหรือเรียนรู้ในสังกัด ศธ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ดศ. มท. กระทรวงแรงงาน (รง.) หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรทางศาสนา หรือหน่วยงานอื่นๆ
|
|
2) ยกระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพสังคม |
||
3) ส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน (Learn to Earn) ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ/วิชาชีพของเด็กและเยาวชนในการทำงานจริงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา |
||
(4) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา |
||
1) ส่งเสริมหรือจูงใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี |
มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป |
|
2) สนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน |
มอบหมายให้ รง. พิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม |
5. ประโยชน์ที่จะได้รับ
5.1 เกิดพื้นที่จังหวัดขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และจะครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
5.2 สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ จำนวน 100,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 500,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และจำนวน 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ซึ่งจะบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
____________________
1 เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา หมายถึง ประชากรวัยเรียนที่อยู่ในช่วงอายุ 3 – 18 ปี และเด็กพิการตั้งแต่แรกพบความพิการถึง 18 ปี ครอบคลุมทั้งกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ได้แก่ เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน และเด็กพิการที่ตกหล่น และกลุ่มเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาภายใน 1 ปีการศึกษาถัดไป
2 ปัจจุบันได้มีการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลและทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของรัฐบาลซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ส่งผลให้ไม่มีโครงการดังกล่าวแล้ว
3 กสศ. แจ้งว่า เป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของ นรม. รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403(กน)/9047 ลงวันที่ 27 กันยายน 2566 (เรื่อง การดำเนินงานตามนโยบายด้านความเสมอภาคทางการศึกษา)
4 ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566
5 กสศ. แจ้งว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติในครั้งนี้ จะมีการปรับปรุงร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวต่อไป
6 ปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป
7 กสศ. แจ้งว่า คณะกรรมการระดับจังหวัด คือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันแล้ว
8 กสศ. แจ้งว่า ระบบ CMS เป็นระบบสืบค้นเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่และเมื่อพิสูจน์ว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนดังกล่าวว่ามีอยู่จริง จะมีการจัดทำแผนการช่วยเหลือดูแลรายกรณีต่อไป (Care Plan)
9 องค์กรยูเนสโกได้กำหนดให้การเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ประกอบด้วย ได้แก่ (1) การเข้าถึงการเรียนได้อย่างยืดหยุ่น (2) เนื้อหาวิชาเรียนมีความยืดหยุ่น (3) การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นทั้งครูและผู้เรียน ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยต่างๆ เข้ามาสนับสนุน (4) การสอนและจัดวิธีการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น (5) ทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น และ (6) การประเมินผลแบบยืดหยุ่น อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างการจัดรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เช่น หนึ่งโรงเรียน สามระบบ ที่ดำเนินงานในจังหวัดนครพนมและราชบุรี โดยเป็นการกำหนดเนื้อหาวิชาเรียนแบ่งเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรแกนกลาง (วิชาการ) หลักสูตรอาชีพ (วิชาชีพ) และหลักสูตรชุมชน (วิชาชีวิต)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51004