การเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 May 2024 22:55
- Hits: 4774
การเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (The International Organization for Mediation) (IOMed: ไอโอเมด) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ (1) กต. (2) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) (3) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) (4) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และ (5) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)
2. เห็นชอบกรอบการเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (กรอบการเจรจาฯ)
3. เห็นชอบให้รับรองถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งในอนาคตซึ่งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (ถ้อยแถลงร่วมฯ)
4. มอบหมายให้ กต. ดำเนินการแจ้งความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาฯ และรับรองถ้อยแถลงร่วมฯ กับฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) โดยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญ
1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีความประสงค์จะเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาว่ด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (IOMed) ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) โดย IOMed จัดตั้งขึ้นในรูปแบบองค์การระหว่างรัฐบาลและมีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นเวทีในการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยแห่งแรกสำหรับข้อพิพาท เช่น (1) ข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิก (2) ข้อพิพาทด้านการลงทุนและเชิงพาณิชย์ระหว่างรัฐสมาชิกกับเอกชนของอีกรัฐสมาชิก และ (3) ข้อพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศระหว่างเอกชน โดยยึดหลักความสมัครใจของคู่พิพาทที่จะใช้ IOMed เป็นเวทีระงับข้อพิพาท ทั้งนี้ IOMed จะไม่รับข้อพิพาทที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งการเข้าร่วมการเจรจาฯ เป็นโอกาสที่ไทยจะมีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างการดำเนินงาน และทิศทางขององค์การดังกล่าว รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ในกรอบการเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (กรอบการเจรจาฯ) ระบุไว้ว่าหากผลการเจรจาไม่เป็นประโยชน์ต่อไทย ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นภาคี IOMed แต่อย่างใด และการเข้าร่วมเจรจาจะไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายให้ไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีของ IOMed กต. จึงได้เสนอกรอบการเจรจาอนุสัญญาฯ และขออนุมัติให้คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาฯ โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ (1) กต. (2) สำนักงานอัยการสูงสุด (3) สำนักงานศาลยุติธรรม (4) กระทรวงยุติธรรม และ (5) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาฯ ไทยจะต้องรับรองถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งในอนาคตซึ่งองค์การเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ (ถ้อยแถลงร่วมฯ) ก่อน ซึ่งถ้อยแถลงร่วมฯ มีรายละเอียด เช่น วัตถุประสงค์ เช่น [(1) ให้บริการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (2) ส่งเสริมการใช้การไกล่เกลี่ยในการระงับข้อพิพาทแสวงหาและส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการไกล่เกลี่ย] หลักการการไกล่เกลี่ย การเข้าร่วมเป็นสมาชิก สำนักงานเตรียมการของ IOMed และขอบเขตของคดี
2. ประโยชน์ที่จะได้รับ: การเข้าร่วมเจรจาอนุสัญญาฯ จะทำให้ไทยสามารถมีส่วนในการกำหนดรายละเอียดในการจัดตั้ง IOMed ให้สอดคล้องกับนโยบายกฎหมาย และผลประโยชน์ของไทย เป็นช่องทางที่ไทยสามารถติดตามพัฒนาการล่าสุดในด้านการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการไกล่เกลี่ย ซึ่งหากผลลัพธ์การเจรจานำไปสู่การจัดตั้ง IOMed ในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อไทยโดยแท้ ก็จะเป็นเวทีการระงับข้อพิพาทอีกหนึ่งเวทีที่ไทยและผู้ลงทุนชาวไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ นอกเหนือจากเวทีการระงับข้อพิพาทผ่านการอนุญาโตตุลาการ เช่น ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการระงับข้อพิพาทการลงทุน (International Centre for Settlement of Investment Disputes: ICSID) และศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration: PCA) เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤษภาคม 2567
51003