รายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 01:57
- Hits: 10750
รายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง
คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ
เนื่องด้วยได้เกิดเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ทำให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืชรวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อประชาชน จึงมีความจำเป็นในการบริหารสถานการณ์ดังกล่าวให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเรงด่วน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 ประกอบกับ มติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงได้ดำเนินการตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ความเค็มของคลองประเวศบุรีรมย์และคลองอื่นๆ ในพื้นที่โครงการชลประทานพระองค์ไชยานุชิต ยังมีปัญหาความเค็มและปัญหาคุณภาพน้ำไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการและสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรรวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ดังนี้
1. สถานการณ์ความเค็มรุกล้ำ
กรมควบคุมมลพิษและกรมชลประทานได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องโดยพบว่า คลองประเวศบุรีรมย์ช่วงต้นคลองถึงสี่แยกคลองเปร็งตัดคลองประเวศ คุณภาพน้ำอยู่ในมาตรฐานแต่คุณภาพน้ำคลองพระยาสมุทร ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองเปร็งตอนล่าง ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ คลองพระยานาคราช ตำบลบ้านระกาศ ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. ผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
หน่วยบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำได้มีการประชุมจำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 และ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 สรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้
(1) กรมชลประทานเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองที่อาจส่งผลกระทบทำให้น้ำเน่าเสียก่อนการนำน้ำจืดเข้าสู่ระบบคลอง เพื่อใช้น้ำจืดในการเจือจางให้น้อยที่สุดในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำรวมถึงกำกับควบคุมและตรวจสอบ การใช้น้ำระหว่างที่ลำเลียงน้ำโดยไม่ไปให้นำน้ำไปใช้เพิ่มในกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้การระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
(2) กรมควบคุมมลพิษดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำต่อเนื่องทุกวันและหากคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงปลาได้
(3) กรมชลประทานดำเนินการสำรวจคลองพระยานาคราช และคลองพระยาสมุทรและดำเนินการจัดทำแผนการระบายน้ำเสียออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด โดยแผนการระบายน้ำเสียออกจะต้องไม่ให้เกิดการเพิ่มปัญหาให้กับอีกพื้นที่หนึ่งด้วย
(4) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการสนับสนุนการเป่าล้างบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาคุณภาพน้ำ และไม่สามารถใช้น้ำผิวดินได้
(5) กรมประมงมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัด จัดทำแผนการใช้น้ำเพื่อการประมง และกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำเพื่อประมงของแต่ละตำแหน่งในบริเวณคลองต่างๆ และประสานไปยังกรมชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
(6) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบติดตามคุณภาพน้ำแบบออนไลน์ เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(7) หน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มีคำสั่งที่ 3/2567 ลงวันที่ 17 เมษายน 2567 ตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติโดยมีที่ตั้ง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ ไชยานุชิต เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการบูรณาการการดำเนินการแก้ไขปัญหากับทุกหน่วยงานมีการดำเนินการประชุมติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทุกวัน
(8) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
(9) เนื่องด้วยขอบเขตของปัญหายังสามารถบริหารจัดการได้และสถานการณ์เริ่มดีขึ้นจึงไม่พิจารณายกระดับสถานการณ์เป็นระดับ 2 จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
3. การประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ ดังนี้
(1) กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์คุณภาพน้ำ ผลการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกวันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์
(2) กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเร่งสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
(3) กรมชลประทาน ประชาสัมพันธ์การบริหารจัดการและผลการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการแก้ไขสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำและคุณภาพน้ำ
(4) กรมประมง ดำเนินการประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
(5) กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการประชาสัมพันธ์การดำเนินการเร่งใช้สารซุปเปอร์ พด.6 บำบัดน้ำเน่าเสีย หลังน้ำเค็มรุกคลองประเวศบุรีรัมย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
(6) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ สถานการณ์คุณภาพน้ำ และผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
4. การประกาศเขตภัยพิบัติ
4.1 จังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยน้ำเค็มปะปนกับน้ำจืดด้านในคลอง โดยดำเนินการประกาศในวันที่ 17 มษายน 1567 และ 20 เมษายน 2567 ประกอบด้วย
(1) พื้นที่หมู่ที่ 1 2 4 และ 6 ตำบลเทพราช พื้นที่หมู่ 4 ตำบลเกาะไร่ พื้นที่ หมู่ที่ 1-3 ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ และพื้นที่หมู่ 3 และ 5 ตำบลเทพราช อำเภอหนองจอก
(2) พื้นที่หมู่ 1-12 ตำบลคลองเปร็ง และหมู่ที่ 1-3 ตำบลหนามแดง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
(3) พื้นที่หมู่ 1-9 ตำบลหนองจอก อำเภอบางปะกง
4.2 จังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียเพื่อพิจารณาการประกาศเขตภัยพิบัติ
5. การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านประมง ด้านเกษตร และด้านน้ำอุปโภคบริโภค ดังนี้
(1) การให้ความช่วยเหลือด้านประมง
กรมประมงสรุปข้อมูลทะเบียนเกษตรกรบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางปะกง จำนวน รวม 1,670 ราย อ.บ้านโพธิ์ จำนวนรวม 829 ราย อ.เมืองฉะเชิงเทรา จำนวนรวม 1,261 ราย และ จังหวัดสมุทรปราการจำนวน 1 อำเภอ คือ อ.บางบ่อ จำนวนรวม 745 ราย
(2) การให้ความช่วยเหลือด้านเกษตร
(2.1) กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านโพธิ์ จ. ฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยสนับสนุนฟางก้อนในการคลุมดินบริเวณโคนต้นพืชเพื่อลดการสูญเสียความชื้นจากหน้าดิน รวมทั้งได้ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดิน เก็บตัวอย่างดินและน้ำ ในนาข้าว บ่อปลา น้ำในคลองลาดขวาง ในพื้นที่ตำบลคลองประเวศ ม.1 และ ม.3 เพื่อตรวจความเค็มและคุณภาพดินของเกษตรกร จำนวน 3 ราย
(2.2) อบต.เทพราช ได้นำรถน้ำมาสนับสนุนน้ำจืดให้กับเกษตรกรในพื้นที่
(3) การให้ความช่วยเหลือด้านอุปโภค บริโภค
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมข้อมูลการช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการสนับสนุนการช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค ระหว่างวันที่ 13-21 เมษายน 2567 จำนวนทั้งสิ้น 240,000 ลิตร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4709