รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 01:33
- Hits: 9784
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
คณะรัฐมนตรีพิจารณารายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการฯ) เสนอ
สาระสำคัญ
รายงานผลการดำเนินงานฯ ที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เสนอ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ซึ่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) พิจารณาดำเนินการในประเด็นการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนในการออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตลอดจนสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ด้วย โดยคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว จึงได้เสนอรายงานดังกล่าวซึ่งมีประเด็น 2 เรื่อง ได้แก่
1. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการทำประชามติ
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นไปโดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป และเมื่อเสร็จแล้วจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงเห็นควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ (1) การทำประชามติครั้งที่ 1 ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2) การทำประชามติครั้งที่ 2 เป็นการทำประชามติในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ (3) การทำประชามติ ครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ควรกำหนดคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรกำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ควรเป็นผู้พิจารณาจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการ เมื่อถึงขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256)
2. การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564
คณะกรรมการฯ ได้มีข้อห่วงใยเพิ่มเติมโดยเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขในประเด็นต่างๆ เช่น กำหนดแบ่งประเภทให้มีการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อมีข้อยุติและการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่คณะรัฐมนตรี กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือระดับจังหวัด โดยอาจไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดคะแนนการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อมีข้อยุติโดยให้มีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และคะแนนเห็นชอบต้องมากกว่าคะแนนเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนน กำหนดให้สามารถออกเสียงประชามติผ่านทางไปรษณีย์ได้ เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4706