ขออนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างเครือข่ายความเป็นเลิศของคนประจำเรือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กับกรมเจ้าท่าประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 01:25
- Hits: 9737
ขออนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างเครือข่ายความเป็นเลิศของคนประจำเรือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กับกรมเจ้าท่าประเทศไทย (Memorandum of Understanding between The Asia-Pacific Economic Cooperation Seafarers Excellence Network (APEC SEN) and Marine Department of Thailand)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างเครือข่ายความเป็นเลิศของคนประจำเรือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับกรมเจ้าท่า ประเทศไทย (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้อธิบดีกรมเจ้าท่า หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย สำหรับการลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคนประจำเรือ จึงมีการประชุมหารือเกี่ยวกับเครือข่ายความเป็นเลิศ Seafarer Excellence Network (SENAP) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถระดับโลกของนักเดินเรือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จนนำไปสู่การจัดตั้ง SENAP อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2561 โดยมี 11 ประเทศให้การสนับสนุนการจัดตั้ง SENAP ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐเปรู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และต่อมาได้มีมติเปลี่ยนชื่อจาก SENAP เป็น APEC Seafarer Excellence Network (APEC SEN) ในเดือนเมษายน 2562 โดยมีสำนักเลขาธิการ APEC SEN ณ Korea Institute of Maritime and Fisheries Technology (KIMFT) เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักงานและบุคลากร ซึ่งประกอบด้วยสภาขับเคลื่อนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การศึกษาและฝึกอบรมคนประจำเรือ (2) การสรรหาบุคลากร การพัฒนาอาชีพและการเปลี่ยนงาน (3) สวัสดิการที่ดีขึ้นของคนประจำเรือ ผู้ทำงานและสำนักเลขาธิการ APEC SEN โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ของอุตสาหกรรมการเดินเรือและนักเดินเรือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเน้นการเสริมสร้างการจ้างงานผ่านเครือข่ายออนไลน์และออฟไลน์ที่เข้มแข็ง เพื่อให้ได้การศึกษาและการฝึกอบรมการเดินเรือที่มีคุณภาพ การได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นโดยให้การสนับสนุนร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาอาชีพและการฝึกอบรมใหม่สำหรับการเปลี่ยนงานของคนประจำเรือในยุคดิจิทัล
2. APEC SEN ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาหารือเกี่ยวกับโครงการของ APEC SEN ร่วมกับหน่วยงานของไทย โดยมีผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสุขภาพจิต และกรมเจ้าท่า เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มความร่วมมือระหว่าง APEC SEN และไทย ทั้งนี้ คค. โดยกรมเจ้าท่า ได้ตอบรับเข้าร่วม 2 โครงการ ได้แก่
2.1 การส่งนักเรียนฝึกจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า จำนวน 4 คน เข้าร่วมโครงการ the Global Onboard Training Programme (GOBT Programme) ประจำปี 2566 ณ KIMFT เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
2.2 การจัดทำหนังสือแจ้งความประสงค์ (Letter of Request) เข้าร่วมโครงการ Train-the-Trainer Course on Global onboard Training ship targeted for Indonesia, Thailand, the Philippines, and Vietnam ซึ่งเป็นการส่งครูฝึกและเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาฝึกอบรมไทยเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการสร้างขีดความสามารถ ณ สาธารณรัฐเกาหลี
นอกจากนี้ APEC SEN ได้หารือแนวทางการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง APEC SEN กับกรมเจ้าท่า ประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายไทยเห็นควรให้เริ่มการจัดทำบันทึกความร่วมมือในกรอบของด้านการฝึกอบรมภายใต้การดำเนินงานของกรมเจ้าท่า คค. หากความร่วมมือดังกล่าวประสบความสำเร็จอาจพิจารณาจัดทำความร่วมมือในกรอบอื่นๆ ต่อไป เช่น ด้านสวัสดิการ การพัฒนาอาชีพและการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
3. APEC SEN ได้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ คค. โดยกรมเจ้าท่าพิจารณา ซึ่ง คค. โดยกรมเจ้าท่า ได้พิจารณาและปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และ APEC SEN ไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอของ คค. โดยกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อให้ APEC SEN และกรมเจ้าท่าของประเทศไทยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันและเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและที่กำลังเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมการเดินเรือและคนประจำเรือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไร้รอยต่อ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ |
|
ขอบเขตความร่วมมือ |
ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมความพยายามร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เช่น (1) การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และ/หรือภาคเอกชนสำหรับกิจกรรมของ APEC SEN ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับคนประจำเรือที่ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ การหารือด้านนโยบาย การเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่มีส่วนสนับสนุนโดยตรงต่อเป้าหมายและลำดับความสำคัญของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (2) การทำงานร่วมกันในการออกแบบและดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ [เช่น การจัดสัมมนา/ประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ การเรียน/ฝึกอบรมผ่านสื่อออนไลน์ (e-learning) หรือการฝึกภาคปฏิบัติบนเรือ] (3) การคำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ |
|
การสนับสนุนทางการเงิน |
ทั้งสองฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ผ่านการเตรียมการดังต่อไปนี้ (1) สถาบันแต่ละแห่ง1 จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรงของสมาชิก รวมถึงค่าประกันสุขภาพส่วนบุคคล และประกันชีวิต (2) สถาบันที่เป็นเจ้าภาพจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมด รวมถึงการออกหนังสือเชิญพื้นที่ทำงาน และการเข้าถึงฐานข้อมูลทางด้านวิชาการ (3) การสนับสนุนทางการเงินอื่นๆ อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย |
|
การมีผลบังคับใช้ |
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อมีการลงนามของทั้งสองฝ่าย และจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี |
|
การบอกเลิกและการต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ |
(1) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจถูกบอกเลิกได้โดยภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยแจ้งการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการบอกเลิกบันทึกความเข้าใจจะมีผลใช้บังคับใน 90 วัน นับจากวันที่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับการแจ้งการบอกเลิกดังกล่าว (2) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ต่อเนื่องกันเว้นแต่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะส่งหนังสือแจ้งการไม่ต่ออายุเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างน้อย 90 วัน ก่อนวันหมดอายุของรอบการต่ออายุ |
|
การแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ และการแก้ไขข้อแตกต่าง |
(1) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยการตัดสินใจร่วมกันของทั้งสองฝ่ายผ่านการแลกเปลี่ยนจดหมายที่ลงนาม (2) ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อแก้ไขข้อแตกต่างใดๆ ที่เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งอาจบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามความเหมาะสม |
|
พันธกรณี |
บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อภาดีทั้งสองฝ่าย |
4. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ (1) เป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง APEC SEN และไทยในด้านคนประจำเรือ (2) เป็นการส่งเสริมการผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวีของไทยให้มีศักยภาพ โดยสามารถแข่งขันกับบุคลากรด้านพาณิชยนาวีของต่างประเทศได้ (3) เป็นการยกระดับหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรมทางน้ำของประเทศไทยให้มีคุณภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาอาชีพและการฝึกอบรมใหม่สำหรับคนประจำเรือในยุคดิจิทัล
_________________________________
1สถาบันในที่นี้หมายถึง สถาบันฝึกอบรมคนประจำเรือ ในส่วนของไทย คือ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีของกรมเจ้าท่าในส่วนของ APEC SEN คือ KIMFT ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งและเป็นฝ่ายเลขานุการของ APEC SEN หรืออาจกำหนด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4705