การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 01:07
- Hits: 9782
การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (บังกลาเทศ) ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People's Republic of Bangladesh on Visa Exemption for Holders of Official Passports) (ความตกลงฯ) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามร่างความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทนให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้ลงนามดังกล่าว
3. ให้ กต. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ
สาระสำคัญ
1) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567 โดยไทยและบังกลาเทศได้เห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงนามความตกลงฯ ในโอกาสดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการติดต่อราชการระหว่างผู้ถือหนังสือเดินทางราชการของทั้งสองฝ่ายและเพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศมากขึ้น
2) ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยและบังกลาเทศสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
ข้อตกลง |
(1) ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุการใช้งานได้ของทั้งประเทศไทยและบังกลาเทศ (รัฐภาคีคู่สัญญา) จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า – เดินทางออก เดินทางผ่าน และพำนักอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสู่สัญญา ได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องไม่เข้ารับการจ้างงานใดๆ ไม่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือกิจการส่วนตัวอื่นใด ในในดินแดนของรัฐภาคีคู่สัญญา (2) ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุการใช้งานได้ของรัฐภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตหรือทางกงสุลของฝ่ายตนหรือเป็นผู้แทนของฝ่ายตนประจำองค์การระหว่างประเทศในดินแดนของรัฐภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นที่ถือหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุการใช้งานได้ของรัฐภาคีคู่สัญญาสามารถเดินทางเข้า พำนักอยู่ใน และเดินทางออกจากดินแดนของอีกฝ่ายได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ ระยะเวลาพำนักนั้นจะได้รับการขยายไปจนสิ้นสุดวาระการแต่งตั้งของบุคคลเหล่านั้นเมื่อมีคำร้องขอของกระทรวงการต่างประเทศหรือสถานเอกอัครราชทูตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (3) ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราตามความตกลงนี้อาจเดินทางเข้า เดินทางผ่าน หรือเดินทางออกจากดินแดนของรัฐภาคีคู่สัญญา ณ ด่านที่เปิดสำหรับการสัญจรระหว่างประเทศใดๆ โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องเคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐภาคีคู่สัญญาเกี่ยวกับการเข้าเมือง การเดินทางและการพำนักที่ใช้บังคับกับคนต่างชาติ (4) ภาคีคู่สัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบผ่านช่องทางการทูตโดยทันทีในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อบังคับของฝ่ายตนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองการเดินทาง และการพำนักที่ใช้บังคับกับคนต่างชาติ (5) ความตกลงนี้จะไม่กระทบต่อพันธกรณีสำหรับคนชาติของรัฐภาคีคู่สัญญาที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้บังคับในดินแดนของรัฐของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (6) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเดินทางเข้าหรือยกเลิกการพำนักของบุคคลใดๆ ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราภายใต้ความตกลงนี้ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยสาธารณะ ความมั่นคงแห่งชาติ หรือสาธารณสุข |
การดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง |
1) ภาคีคู่สัญญาจะจัดส่งตัวอย่างหนังสือเดินทางราชการที่มีอายุใช้ได้ของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางทางการทูตภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงนามความตกลงนี้ (2) ในกรณีที่มีการนำหนังสือเดินทางราชการแบบใหม่ที่อ่านได้ด้วยเครื่องมาใช้ ภาคีคู่สัญญาจะต้องจัดส่งตัวอย่างหนังสือเดินทางแบบใหม่ของตนให้แก่ภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งโดยผ่านช่องทางการทูตล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนการใช้หนังสือเดินทางดังกล่าว |
การระงับการมีผลใช้บังคับ |
ภาคีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการระงับการใช้บังคับความตกลงนี้บางส่วนหรือทั้งหมดด้วยเหตุผลด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ ความมั่นคงแห่งชาติ หรือสาธารณสุขโดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับและการยกเลิกการระงับดังกล่าวผ่านช่องทางการทูตล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน |
การระงับข้อพิพาท |
ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการดำเนินการหรือการใช้บังคับความตกลงนี้ให้ระงับโดยการเจรจาและการปรึกษาหารือระหว่างภาคีคู่สัญญา |
ผลบังคับใช้ |
มีผลใช้บังคับในวันที่ 60 หลังจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายจากภาคีคู่สัญญาว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นต่อการใช้บังคับความตกลงฉบับนี้สมบูรณ์แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการขยายระยะเวลาออกไปอีกวาระละ 5 ปี เว้นแต่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกโดยแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 90 วัน |
การแก้ไข |
ความตกลงนี้อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของภาคีคู่สัญญา และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 นับแต่วันที่ภาคีคู่สัญญาได้รับแจ้งจากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายผ่านช่องทางการทูตเพื่อยืนยันการยินยอมหรือเห็นชอบต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือในวันที่ภาคีคู่สัญญาเห็นชอบร่วมกัน |
3) กต. แจ้งว่า ได้สอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เกี่ยวกับการจัดทำความตกลงฯ แล้ว ทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดข้องต่อการจัดทำความตกลงฯ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4699