ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้า หรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 02:58
- Hits: 13197
ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้า หรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้า หรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอว่า
1. อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade on Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) หรืออนุสัญญาไซเตส (CITES) ได้จัดทำขึ้นเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยใช้ระบบควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในรูปของการส่งออกและนำเข้า สัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำเข้ามาจากทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 โดยที่ปัจจุบันการขอใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออกหรือให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าเป็นไปตามกฎกระทรวงการขอใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาต หรือใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออกหรือให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า พ.ศ. 2558 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 116 บัญญัติให้บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
2. โดยที่มาตรา 22 วรรคสาม มาตรา 23 วรรคสี่ และมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับใบอนุญาตและ การออกใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ และสัตว์ป่าควบคุม รวมทั้งใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการขอรับใบรับรอง และการออกใบรับรองเพื่อการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุมการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประกอบกับเป็นการอนุวัติการตามอนุสัญญาตามข้อ 1. ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ทส. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ก่อนที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (27 พฤศจิกายน 2562) ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 อย่างไรก็ตาม ทส. ได้เสนอขอขยายระยะเวลา การดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่ ทส. เสนอ
3. ทส. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยได้นำร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้า หรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. .... รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 3 - 23 พฤษภาคม 2566 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็น พร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้นำเข้า หรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. กำหนดบทนิยามขึ้นใหม่ |
- “สัตว์ป่าเฉพาะ” หมายความว่า สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม สัตว์ป่าตามอนุสัญญา - “สัตว์ป่าตามอนุสัญญา” หมายความว่า สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครอง ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้ สูญพันธุ์ - “สัตว์ป่าทั่วไป” หมายความว่า สัตว์ป่าที่ไม่ใช่สัตว์ป่าเฉพาะ - “สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์ป่าเฉพาะที่เป็นสัตว์น้ำ หรือสัตว์ป่าทั่วไปที่เป็นสัตว์น้ำ |
|
2. ใบอนุญาต/ใบรับรอง |
กำหนดประเภทของสัตว์ป่าที่ต้องขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง ดังนี้ - กรณีใบอนุญาต เป็นใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าเฉพาะ ซากสัตว์ป่าเฉพาะ หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเฉพาะ รวมถึงสัตว์ป่าเฉพาะ ซากสัตว์ป่าเฉพาะ หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเฉพาะที่เป็นสัตว์น้ำ - กรณีใบรับรอง เป็นใบรับรองให้นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าทั่วไป ซากสัตว์ป่าทั่วไป หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าทั่วไป รวมถึงสัตว์ป่าทั่วไป ซากสัตว์ป่าทั่วไป หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าทั่วไปที่เป็นสัตว์น้ำ |
|
3. กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต หรือใบรับรอง |
- กรณีบุคคลธรรมดา เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือใบรับรอง หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (กำหนดขึ้นใหม่) - กรณีนิติบุคคล ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลนั้นๆ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา และกรณีที่เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้ง ตามหน้าที่ ต้องเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องและแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจรับรองการเปิดให้บริการนับถึงวันที่ยื่นคำขอไม่น้อยกว่า 3 ปี (กำหนดขึ้นใหม่) |
|
4. กำหนดวิธีการยื่นคำขอ |
การยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองให้ยื่นผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ (กำหนดขึ้นใหม่) |
|
5. ผู้มีอำนาจพิจารณา ใบอนุญาตหรือใบรับรอง |
กรณีใบอนุญาต - อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรณีใบอนุญาตการนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าเฉพาะ ซากสัตว์ป่าเฉพาะ หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเฉพาะ - อธิบดีกรมประมง กรณีใบอนุญาตการนำเข้า ส่งออก ส่งกลับออกไป และ การนำเข้าจากทะเลซึ่งสัตว์ป่าเฉพาะ ซากสัตว์ป่าเฉพาะ หรือผลิตภัณฑ์จาก ซากสัตว์ป่าเฉพาะที่เป็นสัตว์น้ำ กรณีใบรับรอง ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบรับรองการนำเข้า ส่งออก ส่งกลับออกไป ซึ่งสัตว์ป่าทั่วไป ซากสัตว์ป่าทั่วไป และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าทั่วไป หรือสัตว์ป่าทั่วไป ซากสัตว์ป่าทั่วไป และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าทั่วไปที่เป็นสัตว์น้ำ อาจยื่น คำขอต่อเจ้าหน้าที่ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมประมงสำหรับกรณีที่เป็น สัตว์น้ำ) และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ให้ออกใบรับรองให้ |
|
6. กำหนดข้อห้าม |
กำหนดข้อห้ามในการดำเนินการ ดังนี้ (กำหนดขึ้นใหม่) - ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง และนำเข้าหรือส่งออก สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อกิจการสวนสัตว์ - ห้ามนำเข้าหรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าสงวน และซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าสงวน เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการสำรวจ การศึกษา การวิจัย หรือทดลองทางวิชาการ - ห้ามนำเข้าซึ่งซากสัตว์ป่าสงวนที่เป็นสัตว์น้ำ และซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ ที่ได้จากการทำการประมงในทะเลอาณาเขต หรือเขตทะเลหลวง ซึ่งไม่อาจครอบครองได้โดยชอบตามกฎหมาย หากสัตว์ป่าสงวนที่เป็นสัตว์น้ำ หรือสัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ ติดมากับเครื่องมือทำการประมง ให้ปล่อยสัตว์ป่าดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเลโดยทันที - ห้ามมิให้นำเข้าหรือส่งออกไข่ของสัตว์ป่า หรือไข่หรือตัวอ่อนของสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ เว้นแต่เป็นกรณีเพื่อการสำรวจ การศึกษา การวิจัย หรือ การทดลองทางวิชาการ - ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าอันตราย |
|
7. การนำเข้าซึ่งซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำจากทะเลในเขตทะเลหลวง |
ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยตามกฎหมายว่าด้วย การประมง หากจะนำเข้าซึ่งซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำจากทะเลในเขตทะเลหลวงให้ยื่นคำขอรับหนังสือรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้องก็ให้เสนออธิบดีกรมประมงพิจารณาออกหนังสือรับรอง (กำหนดขึ้นใหม่) |
|
8. อายุใบอนุญาต และใบรับรอง |
- ใบอนุญาตและใบรับรอง มีอายุ 180 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง แล้วแต่กรณี - ใบรับรอง กรณีเป็นสัตว์ป่าทั่วไป ซากสัตว์ป่าทั่วไป หรือผลิตภัณฑ์ จากซากสัตว์ป่าทั่วไป ที่เป็นสัตว์น้ำ มีอายุ 90 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต หรือใบรับรอง แล้วแต่กรณี - กำหนดให้การต่ออายุใบอนุญาตหรือใบรับรองให้ต่ออายุได้เพียงครั้งเดียว โดยที่ระยะเวลาใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ขยายให้มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตหรือใบรับรองสิ้นอายุ ทั้งนี้ ใบอนุญาตและใบรับรองเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ |
|
9. บทเฉพาะกาล |
กำหนดให้บรรดาใบอนุญาตที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ที่เป็นสัตว์ป่าเฉพาะหรือใบรับรอง การนำเข้า หรือการส่งออกสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าทั่วไป หรือใบอนุญาตที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ที่ออกตามกฎกระทรวงการขอใบอนุญาต หรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า พ.ศ. 2558 ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตหรือใบรับรองนั้นจะสิ้นอายุ และให้บรรดาคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอใบรับรองดังกล่าวที่ได้ยื่นไว้ตามกฎกระทรวงดังกล่าวถือเป็นคำขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองตามกฎกระทรวงนี้ และให้พิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4558