ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 02:36
- Hits: 12658
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและ การจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและ การจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยทางคลินิก รวมถึงการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์สมุนไพรและภูมิปัญญาไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีข้อเสนอแนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพร กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่ บูรณาการทรัพยากรด้านวิจัยและนวัตกรรม กำหนดนโยบายและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพร เป็นต้น และ (2) ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ เช่น ให้มีการพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพร ให้มีการพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและ แนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษา ตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เป็นต้น
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 พฤศจิกายน 2566) รับทราบรายงานตามข้อ 1 และมอบหมายให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงาน ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและข้อสังเกตเพิ่มเติมของที่ประชุมวุฒิสภาไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อว. ดศ. และ อก. โดยสรุปผลได้ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรโดยกำหนดให้มีหน่วยงานให้ทุนสำหรับการวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ |
● แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรได้มีการกำหนดและมอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) จัดสรรทุนด้านการวิจัยสมุนไพร และได้มีการกำหนดจัดกลุ่มพืชสมุนไพรเป้าหมายที่ควรมุ่งเน้นสำหรับการจัดสรรทุนวิจัย ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนการให้ทุนวิจัยด้านสมุนไพร และทำให้การจัดสรรทุนวิจัยสมุนไพรครบตามห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ● ปัจจุบันมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้ PMU โดยในปี พ.ศ. 2563 - 2566 มีการจัดสรรงบประมาณงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 3,973.76 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,206 โครงการ และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ปีละประมาณ 50 ล้านบาท ● เห็นควรให้มีการนำข้อมูลการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรมาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์และระดับความสำเร็จที่มีความพร้อมในการนำไปใช้ประโยชน์ |
|
2. มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการบริหารจัดการด้านการวิจัยพัฒนาและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร |
● เห็นควรให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติรับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร และหารือร่วมกับ สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการร่วมของคณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อให้ เกิดความสะดวกในการดำเนินงานและสนับสนุนภารกิจให้ประสบความสำเร็จ |
|
3. กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่บูรณาการทรัพยากรด้านวิจัยและนวัตกรรมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน และสถานที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน (maker space) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์ แผนไทย |
● ปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ในสังกัด อว. จำนวน 58 โรงงานและศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center) ในสังกัด อก. จำนวน 11 ศูนย์ รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิเคราะห์ วิจัยและควบคุมคุณภาพสมุนไพรในสังกัด อว. จำนวน 19 แห่ง ● เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรและคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสถานที่ต้นแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดเป็น maker space เพื่อนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล |
|
4. กำหนดนโยบายและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยใช้องค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นฐานในการพัฒนาเกิดเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม |
● ปัจจุบันภายใต้แผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 เป็นต้น ได้มีนโยบาย เป้าหมายและตัวชี้วัดด้านการส่งเสริมการประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชนด้วยการใช้นวัตกรรม ● เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรและคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลลัพธ์เป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรจากภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น |
|
5. กำหนดให้การพัฒนาข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้สมุนไพรเป็นแนวทางสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพร |
● ปัจจุบันมีฐานข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์และฐานข้อมูลการใช้สมุนไพร เช่น ระบบ NRIS: ฐานข้อมูลกลางของงานวิจัยในระบบ ววน. ฐานข้อมูลคลังด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ของ สธ. เป็นต้น ● กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรที่ผ่านมา เช่น โครงการประเมินมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย โครงการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจสมุนไพร: การจัดทำ Outlook และนำร่องเสนอข้อมูลเศรษฐกิจประเทศไทยด้านยาสมุนไพร เป็นต้น ● เห็นควรให้มีการนำชุดข้อมูลงานวิจัยมาวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาดและวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาด และ Technology Readiness Level เพื่อกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อดำเนินการตามสมุนไพรเป้าหมาย |
2. ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. อว. และ สธ. ร่วมกันพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพรการจัดทำแนวทางการประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยในมนุษย์ของประเทศตามแนวทางที่เหมาะสมกับการวิจัยสมุนไพร |
● ปัจจุบันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานและจริยธรรมการวิจัยของมนุษย์อยู่ภายใต้ขอบเขตหน้าที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในสังกัด อว. ● เห็นควรเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อจัดทำแนวทางมาตรฐานงานวิจัยทางคลินิกของสมุนไพร โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เภสัชกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อ การยอมรับและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง |
|
2. อว. สธ. และ ดศ. ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและแนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย |
● เห็นควรมอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวบรวมชุดข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เช่น โรคที่มีการใช้แพทย์แผนไทยในการรักษา สมุนไพรที่มีการใช้ในการรักษาโรค เป็นต้น จากหน่วยบริการในสังกัด สธ. และมอบหมาย สกสว.ประสานกับสำนักงานปลัด อว. เพื่อรวบรวมข้อมูล การวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลในสังกัด อว. |
|
3. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับคณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในการค้นหาผู้ประกอบการสมุนไพรรายย่อยที่มีศักยภาพ |
● ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสมุนไพรที่มีศักยภาพและได้รับการส่งเสริมจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 363 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 127 ราย ● เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อยผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร และคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยควรมีการเพิ่มองค์ประกอบของอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพรให้มี PMU ที่ได้รับมอบหมายอยู่ด้วย ● เห็นควรให้ PMU ที่เกี่ยวข้องกับด้านสมุนไพรที่ได้รับมอบหมายเป็น ผู้รวบรวมข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่แทน บพท. โดยอาจจะเชื่อมโยงกับ Regional science park ที่มีอยู่ |
|
4. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารจัดทำระบบและเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านสมุนไพรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในทุกระดับอย่างรอบด้าน |
● สกสว. มีการจัดสรรทุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการรับรู้งานวิจัยของตลาดได้ หากงานวิจัยมีความพร้อม ● เห็นควรนำชุดตัวอย่างข้อมูลงานวิจัยของขิงมาเป็นตัวอย่างในการจัดทำกรอบการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ ● เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติกำหนดสมุนไพรเป้าหมายเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ |
|
5. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาและส่งเสริมวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัย |
● ปัจจุบันวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอยู่ใน TCI (Thai Journal Citation Index) Level 1 และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 40 วารสารจาก 275 วารสาร ที่ TCI จะนำเข้าฐานข้อมูล Scopus ในปี ค.ศ. 2023 - 2026 ● มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยกระดับวารสารดังกล่าวให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัยระดับสากล |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4555