ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 02:29
- Hits: 12332
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานควรแสดงข้อมูล รายละเอียด และแยกราคาหน้าโรงกลั่น ตามวิธีการผลิต ต้นทุนการกลั่น การดำเนินการและราคานำเข้า เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของโครงสร้างราคา ควรกำหนดนโยบายด้านราคาสำหรับภาคครัวเรือนให้แยกออกจากราคาที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมกับภาคขนส่งให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและสถานีบรรจุเช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันเป็นการลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค และรัฐควรกำหนดค่าขนส่งตามระยะทางให้มีความชัดเจน เช่น จากโรงบรรจุก๊าซไปยังร้านค้าปลีกหรือจากร้านค้าปลีกไปยังที่อยู่อาศัยของประขาชน รวมทั้งการบริหารจัดการปริมาณเก็บสำรอง (Safety Stock) รัฐควรพิจารณานโยบายให้เหมาะสมกับความต้องการและการผลิต และช่วยเหลือด้านการจัดการ เช่น รักษาระดับปริมาณเก็บสำรอง ที่ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน และมีข้อเสนอแนะภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG เช่น ควรพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศในลักษณะการดำเนินงานเช่นเดียวกับสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยใช้กลไกของภาครัฐผ่านทางระบบดิจิทัล ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงาน และเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ในขณะนั้น สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พน. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวและสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
พน. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ |
ผลการดำเนินงาน |
|
ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG |
||
1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุนตามวิธีการผลิตและต้นทุนให้ชัดเจน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG |
● ได้มีการศึกษาและทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและ ก๊าซ LPG รวมทั้งสำรวจและทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคำนวณราคาจำหน่าย ก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ |
|
2. ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันจะเป็น การลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค |
● การก่อสร้างสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPGผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง แต่การลงทุนขึ้นอยู่กับ การตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามการลงทุน |
|
3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงบรรจุก๊าซสามารถบรรจุก๊าซในถังบรรจุก๊าซ LPG ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง |
● ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงของ พน. และต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG |
|
4. รัฐควรพิจารณานโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไปจะส่งผลให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่ม การนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ |
● อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG |
|
ข้อเสนอแนะภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG |
||
1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ 2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงที่ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบางแทนการช่วยเหลือในภาพรวม 3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานที่ผลิตในประเทศควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกในการอ้างอิงควรกำหนดให้ราคาที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า 4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง 5. พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน 6. ทบทวนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดบนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ 7. การจัดหาพลังงานในอนาคตที่ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม 8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็น การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต |
● พน. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในส่วนของ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น และมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ใน ภาคพลังงาน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4553