การดำเนินงานโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 02:15
- Hits: 11965
การดำเนินงานโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท ในส่วนอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติ กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในระยะเวลา 2 ปีอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จำนวน 450 ล้านบาท (ปีละ 225 ล้านบาท) ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เสนอ
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มีนาคม 2567) เห็นชอบในหลักการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับ กทบ. ธ.ก.ส. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดของแนวทางการดำเนินโครงการนี้ในประเด็นต่างๆ ให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนและเหมาะสม (เช่น อัตราดอกเบี้ยที่รัฐต้องรับภาระชดเชย กรอบวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับการดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง และการกำหนดระยะเวลาที่เกษตรกรจะต้องชำระคืนเงินกู้ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เกษตรกรจะคืนทุนจากการเลี้ยงโค) โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งก่อนดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กทบ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 19 มีนาคม 2567 รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่ 6/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง (คณะทำงานฯ) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานคณะทำงานฯ และผู้อำนวยการ สทบ. เป็นคณะทำงานฯ และเลขานุการ
2. คณะทำงานฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องรับภาระชดเชย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจากการประชุมดังกล่าวมีการปรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่องสรุปดังนี้
2.1 ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธกส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ย 4.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท รวม 2 ปี 450 ล้านบาท) โดยให้ ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป
2.2 กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่นๆ แล้วชำระหนี้ได้
2.3 วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง
2.4 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลา เป็นสินเชื่อระยะยาว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคลตามแนวทางที่กำหนด โดยให้สมาชิกกองทุนฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับกองทุนหมู่บ้านฯ จากนั้นกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ ตามระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้านฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ
2.5 กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
2.5.1 แผนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บกับกองทุน หมู่บ้านฯ
ปีที่ |
ต้นเงิน (50,000 บาทต่อครัวเรือน) (บาท) |
ดอกเบี้ย (ร้อยละ/ปี) |
1 |
ยังไม่ต้องชำระคืนต้นเงิน |
รัฐชดเชย 4.50 |
2 |
รัฐชดเชย 4.50 |
|
3 |
กองทุนหมู่บ้านฯ ชำระดอกเบี้ย ให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี |
|
4 |
25,000 |
|
5 |
25,000 |
กรณีผิดนัดชำระหนี้ปีที่ 4 - 5 ธ.ก.ส. จะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดตามที่เรียกเก็บจริงบวกเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี และหากสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ แล้ว ไม่สามารถส่งชำระหนี้ต้นเงินกู้ตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด ให้เรียกดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินส่วนที่มิได้ชำระตามกำหนดนั้นในอัตรา MLR บวก Risk Premium1 บวกเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น (อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ระหว่าง ธ.ก.ส. นำเสนอคณะกรรมการ ธ.ก.ส.)
2.5.2 การพิจารณาสินเชื่อใช้เกณฑ์คุณภาพในการประเมินศักยภาพ และวิเคราะห์ความเสี่ยงของกองทุนหมู่บ้านและสมาชิกผู้กู้
2.5.3 การดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง จะดำเนินโครงการต่อไปได้ต่อเมื่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอโครงการฯ ที่ กทบ. เสนอต่อ ครม. แล้ว
2.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว ดังนี้
ลำดับที่ |
รายละเอียด |
รายได้จากการขายโค (บาท) |
1 |
แม่โคปลด |
18,000 |
2 |
โค 1 ปี |
20,000 |
3 |
โค 2.5 ปี |
25,000 |
4 |
โค เพิ่งคลอด |
7,000 |
5 |
โค 4 ปี |
20,000 |
6 |
โค เพิ่งคลอด |
7,000 |
7 |
โค 2 ปี ตั้งท้อง 3 เดือน |
23,000 |
รวม |
120,000 |
ทั้งนี้ จำนวนโคที่คาดว่าจะสามารถทำให้สมาชิกกองทุนฯ ชำระคืนเงินกู้ได้ในอนาคต คือ การเลี้ยงแม่โค 2 ตัว ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง กรณีเกิดความเสียหายกับโคที่สมาชิกนำมาเลี้ยง อีกทั้ง ในช่วงเวลา 1 ปีแรกของการเลี้ยงแม่โคซึ่งได้รับการผสมเทียมจะตกลูกอย่างน้อย 1 ตัว และหากเป็นลูกโคตัวผู้ สมาชิกกองทุนฯ อาจเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในปีที่ 3 ราคาประมาณตัวละ 20,000 - 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของโค ซึ่งในปีที่ 3 สมาชิกกองทุนฯ ต้องชำระคืนเงินดอกเบี้ยให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ หรือหากเป็นโคตัวเมีย ผู้เลี้ยงโคอาจเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์สำหรับการผสมเทียมในปีถัดไปได้ นอกจากนี้ สมาชิกกองทุนฯ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายมูลโคแห้ง ประมาณ 6,000 บาทต่อตัว อย่างไรก็ตามสมาชิกกองทุนฯ ที่เลี้ยงโคจะสามารถจำหน่ายโคได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป
2.7 การติดตามประเมินผล กทบ. สทบ. ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส โดยให้ ธ.ก.ส. รายงานข้อมูลกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและผลการอนุมัติงบประมาณของ ธ.ก.ส.
3. กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่องตามมติคณะทำงานฯ (ตามข้อ 2) และมอบหมายให้ สทบ. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
______________________________
1 ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 6.125 ส่วน Risk Premium นั้น ธ.ก.ส. แจ้งว่ากำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระหนี้ของแต่ละกองทุน หากกองทุนที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ธ.ก.ส. จะไม่คิดค่า Risk Premium
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4551