ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 01:57
- Hits: 13033
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาสภาพปัญหาและสถานการณ์การจ้างแรงงานผู้สูงอายุในประเทศไทย รวมถึงกฎหมายผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานภายใต้เจตนารมณ์สำคัญในการที่มุ่งให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานจากกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเสริมตลาดแรงงานให้มีแรงงานหลากหลายประเภทมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการจ้างแรงงานประเภทต่างๆ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendations) ควรกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งในภาพรวมระดับประเทศ กำหนดและดำเนินนโยบายการวิเคราะห์วางกำลังคน (Human Resource Planning: HRP) ของประเทศในภาพรวมระยะยาว วิเคราะห์ กำหนดแผนการ และส่งเสริมนโยบายการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศ กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังพล หรือทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่สอดคล้องกับแผนกำลังคน สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้นำองค์กรนายจ้าง ให้ความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบ และการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ (MIS) ผู้สูงอายุในทุกระดับและการมุ่งขับเคลื่อนนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุขยายโอกาสการประกอบอาชีพนอกระบบ
1.2 ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ควรมุ่งเน้นการบูรณาการของหน่วยงานรัฐเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ควรให้หน่วยงานภาครัฐใช้กลไกภาคเอกชนมาเป็นเครือข่ายและเพิ่มมาตรการจูงใจนอกเหนือจากมาตรการทางภาษี การส่งเสริมให้ทุกกระทรวงดำเนินนโนบายและการดำเนินการในการจ้างผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ควรเร่งพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แรงงานสูงอายุเป็นส่วนเสริมในอุตสาหกรรม และธุรกิจการท่องเที่ยว ควรพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลเดียวกันทั้งประเทศ และ ควรขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุในรูปแบบ และวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมตามแต่บริบทจากทุกภาคส่วน
1.3 ข้อเสนอแนะด้านกฎหมายในประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ การกำหนดอัตราส่วนในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในขณะนั้น สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
รง. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความ เห็นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และได้มีความเห็นเพิ่มเติมโดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendations) |
|
|
1.1 กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งในภาพรวมระดับประเทศ เช่น นโยบายสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุโดยหน่วยงานราชการในทุกระดับของประเทศให้จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานในลักษณะ “หนึ่งหน่วยงานหนึ่งผู้สูงอายุ” เป็นต้น | - กรมการจัดหางานดำเนินกิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ โดยได้มีผู้สูงอายุมาใช้บริการจัดหางาน จำนวน 21 คน และได้รับการบรรจุงาน จำนวน 20 คน ก่อให้เกิดรายได้ 2,160,000 บาท และ พม. ได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ ตำแหน่งช่วยปฏิบัติการเงินและบัญชี เงินเดือน 12,000 บาท ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานเทคโนโลยีสารสนเทศเงินเดือน 15,000 บาท ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ เงินเดือน 12,000 บาท และตำแหน่งพี่เลี้ยง เงินเดือน 8,690 บาท | |
1.2 กำหนดและดำเนินนโยบายการวิเคราะห์วางกำลังคน (Human Resource Planning HRP) ของประเทศในภาพรวมระยะยาว เพื่อให้เห็นแนวโน้มและข้อมูลจากการศึกษาคาดการณ์เชิงอนาคต (Future Study) | - กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการดำเนินนโยบายวางแผนการพัฒนากำลังคนให้แก่คนทุกช่วงวัยที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านความมั่นคง โดยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน New – Skill Up – Skill และ Re – skill ให้แก่แรงงานใหม่แรงงานในระบบจ้างงานแรงงานนอกระบบ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านเชิงของประชากร และรองรับสังคม ผู้สูงอายุ มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่กำลังแรงงานทุกกลุ่มวัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เช่น โครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่ชายแดนใต้ โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น | |
1.3 วิเคราะห์ กำหนดแผนการ และส่งเสริมนโยบายการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับแผนกำลังคนของประเทศเพื่อบรรเทาสถานการณ์สังคมสูงวัยและสภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาพรวม | - พม. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ โดยเห็นว่าการบรรเทาสถานการณ์สังคมสูงวัย ส่งเสริมการเพิ่มประชากร สภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาพรวมเป็นสถานการณ์ที่มีความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์กำหนดแผนให้สอดคล้องกัน มีระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว | |
1.4 กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังพล หรือทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่สอดคล้องกับแผนกำลังคน ซึ่งอาจดำเนินการในรูปแบบของการกำหนด “พิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์” (Human Capital Development Blueprint) อันจะเป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ในภาพรวมอย่างชัดเจน” | - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการส่งเสริมแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้สูงอายุภายใต้โครงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม กิจกรรมหลักส่งเสริมสิทธิหน้าที่แก่แรงงานสูงอายุและแรงงานนอกระบบกลุ่มผู้สูงอายุ จากแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี เท่ากับจะเป็นการผ่อนภาระพึ่งพาครอบครัวและรัฐ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชนจะสร้างความสามัคคี ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถต่อยอดการพัฒนาด้านอื่นๆ ในแบบองค์รวม | |
1.5 สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้นำองค์กรนายจ้างและผู้ประกอบการให้เห็นถึงความสำคัญของพนักงานลูกจ้างสูงอายุ ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พร้อมทั้งศึกษาเพื่อพิจารณาและกำหนดลักษณะงานที่เหมาะสมกับลักษณะของแรงงานสูงอายุ (Job Description) | - รง. ได้ออกประกาศ รง.เรื่อง ขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ผู้สูงอายุ จึงได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น และกรมการจัดหางาน ดำเนินกิจกรรมสานพลังประชารัฐจัดหางานให้ผู้สูงอายุ (Civil State Project for Elderly) โดยดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการประกอบอาชีพหรือทำงาน และจัดประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่นายจ้าง/สถานประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง | |
1.6 ให้ความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบและการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ (MIS) ผู้สูงอายุในทุกระดับ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศสำคัญในการวิเคราะห์และกำหนดแผนกำลังคน หรือพิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบการตัดสินใจ และการบริหารจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง | - การมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งระบบสารสนเทศควรมีการเชื่อมโยงกัน สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ | |
1.7 มุ่งขับเคลื่อนนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุที่ต้องครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน และขยายโอกาสการประกอบอาชีพนอกระบบ ทั้งการขยายการเกษียณอายุ และส่งเสริมการสร้างและประกอบอาชีพที่ทำงานนอกระบบ | - กรมการจัดหางานได้ดำเนินการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้ผู้สูงอายุ ให้ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการนำไปสู่การมีอาชีพ มีรายได้ ลดภาระการเลี้ยงดูของครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุสู่การเป็นวิทยากรถ่ายทอดภูมิปัญญาและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุ สู่ตลาดออนไลน์ โดยผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระและพัฒนาศักยภาพ จำนวน 1,441 คน ได้ประกอบอาชีพมีรายได้ จำนวน 1,286 คน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 6,258,611 บาท | |
1.8 ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนให้จ้างงานผู้สูงอายุและกำหนดแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการในการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนเพิ่มเติมในด้านต่างๆ | - กรมกิจการผู้สูงอายุได้ร่วมมือกับบริษัท เอก – ชัยดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด สนับสนุนโครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ “สร้างสุขวัยเก๋า” เพื่อขยายโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุทั่วประเทศได้ฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว จำนวน 200 คน | |
2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ 2.1 มุ่งเน้นการบูรณาการของหน่วยงานรัฐโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เพื่อให้หน่วยงานหลัก |
- กรมการจัดหางานได้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับสถาบันวิทยาลัยชุมชนและกรมกิจการผู้สูงอายุ |
|
2.2 หน่วยงานภาครัฐใช้กลไกภาคเอกชนมาเป็นเครือข่าย และเพิ่มมาตรการจูงใจนอกเหนือจากมาตรการทางภาษี | - กค. มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเข้าทำงานสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการจ้างผู้สูงอายุที่มีค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีบริบูรณ์สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท | |
2.3 ส่งเสริมให้ทุกกระทรวงดำเนินโนบายและการดำเนินการในการจ้างผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเป็นที่ปรึกษาหรือวิทยากรแก่ผู้ปฏิบัติงานใหม่ | - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีนโยบายการจ้างข้าราชการเกษียณอายุที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน ต่างๆ ให้เข้ามาทำงาน เช่น กองคุ้มครองแรงงานจ้างข้าราชการเกษียณอายุ จำนวน 4 คนและมีผู้สูงอายุเข้าทำงานกับสำนักงานประกันสังคมจำนวน 504 คน คิดเป็นร้อยละ 99.41 | |
2.4 เร่งพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แรงงานสูงอายุเป็นส่วนเสริมในอุตสาหกรรมและธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งมีความขาดแคลนในปัจจุบันในลักษณะงานและรูปแบบการจ้างที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน | - อุตสาหกรรมธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มโอกาสการมีงานทำของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะงานบริการต่างๆ ได้แก่ พนักงานต้อนรับ มัคคุเทศก์ พนักงานนวด พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น หากเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดรายได้กับชุมชนเพิ่มอีกด้วย | |
2.5 สร้างเสริมศักยภาพและสมรรถนะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในรูปแบบของ Up – Skills Re – Skills และ New – Skills ด้วยรูปแบบและวิธีการเรียนรู้ (Learning Methods) ที่เหมาะสมกับช่วงวัย ให้สอดคล้องกับพิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ | - กรมกิจการผู้สูงอายุ ดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ “ต่อยอดอาชีพสู่เทรนด์ธุรกิจออนไลน์” ประกอบด้วย 2 หลักสูตร (1) หลักสูตร Senior Entrepreneur ผู้ประกอบการวัยเก๋า LAZADA (2) หลักสูตรติดปีกทักษะดิจิทัลกับโครงการเน็ตทำกิน โดยมีผู้สูงอายุที่ได้รับการพัฒนารวม 700 คน | |
2.6 พัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่ประกอบไปด้วยข้อมูลที่จำเป็นในการบ่งชี้สถานการณ์ผู้สูงอายุ อันจะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาอย่างถูกต้อง ประกอบกับต้องทบทวนวิธีการ รูปแบบ หรือชุดข้อมูล (data template) ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติให้สามารถเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลเดียวกันทั้งประเทศ | - กรมกิจการผู้สูงอายุ มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุ ได้แก่ฐานข้อมูลผู้กู้ยืมเงินประกอบอาชีพ, ฐานข้อมูลองค์กรที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนผู้สูงอายุ, ฐานข้อมูลค่าจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี, ฐานข้อมูลเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก, ฐานข้อมูลโครงการการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย | |
2.7 ขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมตามแต่ละบริบทจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยเชิงนโยบายและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และสนับสนุนทุกภาคส่วนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา | - พม. มีโครงการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งรายบุคคลรายละ 30,000 บาทและรายกลุ่ม กลุ่มไม่น้อยกว่า 5 คน ได้กลุ่มละ 100,000 บาท ผ่อนชำระเป็นรายงวด ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสามารถยื่นขอรับเงินทุนประกอบอาชีพได้ที่กองทุนผู้สูงอายุต่างจังหวัดที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือเว็บไซต์กองทุนผู้สูงอายุ และกรมกิจการผู้สูงอายุมีกลไกระดับพื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนผู้สูงอายุ 2,456 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ, ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2,082 แห่ง กระจายอยู่ ทั่วประเทศ, ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุจังหวัดชลบุรี 1 แห่ง | |
3. ข้อเสนอแนะด้านกฎหมาย 3.1 ประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ |
|
|
3.1.1 เพื่อให้สามารถคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพควรมีการพิจารณาเพิ่มคำนิยาม ความหมายของนิยามคำว่า “แรงงานผู้สูงอายุ” หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ลงในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 | - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 บัญญัติให้ นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรจะเห็นได้ว่าเป็นการเปิดกว้างสำหรับการจ้างงานเว้นแต่กำหนดห้ามไม่ให้ลูกจ้างอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าทำงานเป็นลูกจ้างตามมาตรา 4 | |
3.1.2 ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการกำหนดเวลาทำงานของผู้สูงอายุที่เหมาะสมเป็นมาตรฐานกลางในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ชัดเจน สถานประกอบการและแรงงานผู้สูงอายุสามารถกำหนดระยะเวลาทำงานได้ตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย | - พม. เห็นด้วยกับข้อเสนอ โดยเห็นว่าเพื่อให้สามารถคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุมีการบริหารจัดการสถานประกอบการ ให้มีความเหมาะสม ปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานในลักษณะต่างๆ อย่างชัดเจน ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมสามารถยึดเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันได้ | |
3.1.3 ควรกำหนดประเภทงานที่แรงงานผู้สูงอายุสามารทำได้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 | - สำนักงาน ก.พ. เห็นด้วยว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุในประเด็นต่างๆ อย่างรอบครอบ รวมถึงการกำหนดประเภทงานที่แรงงานผู้สูงอายุสามารถทำได้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ | |
3.2 ควรกำหนดอัตราส่วนในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 โดยเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 | - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความเห็นว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีเหตุผลในการประกาศใช้เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ซึ่งบางส่วนอยู่ในวัยทำงานต่างจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งได้กำหนดในมาตรา 118/1 ไว้ว่า กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างมิได้มีการตกลงหรือกำหนดเกษียณอายุไว้ หรือตกลงกำหนดการเกษียณไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุต่อนายจ้าง และมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย จะเห็นได้ว่าลูกจ้างที่เกษียณอายุแล้วจะอยู่ในช่วงเวลาพักผ่อนและบางรายอาจไม่พร้อมทำงาน จึงไม่อาจเทียบเคียงกับการกำหนดอัตราส่วนในการจ้างผู้สูงอายุกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 | |
3.3 ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงาน “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือให้ลูกจ้างลาออก ก่อนเกษียณอายุ เพราะเหตุเรื่องอายุ” | - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีความเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คุ้มครองแรงงานทุกประเภทหากนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย | |
3.4 ควรมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน เช่น มาตรการด้านภาษีอากร การให้เงินอุดหนุน การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น | - กรมการจัดหางาน มีความเห็นว่า สำหรับมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชน ปัจจุบันมีมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า จากค่าจ้างผู้สูงอายุ ซึ่งให้การตอบรับจากภาคเอกชนค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นควรพิจารณาออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เช่น ขยายอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้สูงขึ้น การให้สิทธิพิเศษแก่สถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุในการใช้บริการของภาครัฐและการให้โล่รางวัลต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สถานประกอบการ | |
3.5 ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านบำนาญชราภาพให้กับผู้สูงอายุมาเป็นแรงงานในระบบครั้งแรกสามารถรับบำนาญชราภาพได้เมื่อทำงานครบระยะเวลา 120 เดือน ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับบำนาญชราภาพของผู้สูงอายุที่เข้ามาเป็นแรงงานในระบบ |
- สำนักงานประกันสังคมได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลดระยะการส่งเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิรับบำนาญดังกล่าว โดยมีผลการศึกษารายงานคณิตศาสตร์ประกันร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แนะแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ซึ่งรวมถึงการลดระยะเวลาการส่งเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิบำนาญลงเหลือ 5 ปี เนื่องจากประเทศไทยมีการทำงานในระบบที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ผู้ประกันตนจำนวนมากส่งเงินสมทบไม่ครบ 15 ปี จึงได้รับบำเหน็จแทนบำนาญ ซึ่ง ILO มองว่าไม่ได้เป็นหลักประกันรายได้ระยะยาวตลอดชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และจากการศึกษาข้อมูลการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนพบว่า มีผู้ประกันตนที่เคยส่งเงินสมทบกรณีชราภาพมากกว่า 30 ล้านคน มีการเปลี่ยนงานระหว่างงานในระบบและงานนอกระบบ และยังพบว่าในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกันตนมาตรา 33 ถึง 2 ล้านคน ซึ่งทำให้การส่งเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนจำนวนมากไม่ต่อเนื่อง สำหรับแนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 การลดระยะเวลานำเงินสมทบและแก้ไขกฎกระทรวงสูตรบำเหน็จชราภาพสำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรอบด้านเพื่อสนับสนุนรายละเอียดในการขอแก้ไข |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4549