การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 01:42
- Hits: 11764
การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร) ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. โดยให้ถือใช้ข้อความตามที่ปรับปรุงแล้ว แทนข้อความเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มกราคม 2550) ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้วางกรอบแนวปฏิบัติ เพื่อให้ส่วนงานในพื้นที่ดำเนินการ เรื่อง การงดการดำเนินคดีบังคับคดีและการขายทอดตลาด ดังนี้
1.1 ให้อนุมัติดำเนินคดีลูกหนี้เกษตรกร เฉพาะกรณีที่หนี้ใกล้จะขาดอายุความฟ้องร้องดำเนินคดี (อนุมัติก่อนหนี้ขาดอายุความ 1 - 2 ปี)
1.2 ให้ชะลอการบังคับคดีลูกหนี้เกษตรกร สำหรับคดีที่ศาลมีคำพิพากษา และคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจะบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้รายใดให้ดำเนินการได้เฉพาะหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วเท่านั้น (ดำเนินการเมื่อระยะเวลาบังคับคดีคงเหลือไม่เกิน 2 ปี)
1.3 ให้ชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร สำหรับคดีที่ได้บังคับคดี (ยึดทรัพย์สิน) ไว้แล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 289 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
2. การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ในการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดี และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายได้ใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทางตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ ดังนี้
ประเด็นปัญหา/ผลกระทบ |
รายละเอียด |
|
(1) ลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือในการชำระหนี้ตามสัญญาและแก้ไขปัญหาหนี้สิน |
1) ลูกหนี้ไม่มีเหตุจูงใจที่จะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น โดยเห็นว่า ธ.ก.ส. ไม่อาจที่จะบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถไปก่อหนี้กับเจ้าหนี้ ภายนอกเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ชั้นดีรายอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างจนทำให้กระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศได้ 2) ลูกหนี้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวห้ามมิให้ ธ.ก.ส. ฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้เกษตรกร และเมื่อ ธ.ก.ส. มีความจำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้เกษตรกรโดยอาศัยเหตุแห่งอายุความ จึงทำให้ลูกหนี้บางส่วนเกิดความไม่พอใจและมีปัญหากระทบกระทั่ง กับ ธ.ก.ส. เรื่อยมา |
|
(2) ในการฟ้องหรือบังคับคดี ลูกหนี้ หรือสมาชิก กฟก. จะมีหนังสือขอให้ ธ.ก.ส. ชะลอการฟ้อง หรือชะลอการบังคับคดีออกไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา โดยเฉพาะในคดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้ว |
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด ลูกหนี้หรือสมาชิก กฟก. จะมีหนังสือขอให้ ธ.ก.ส. งดการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ทำให้ ธ.ก.ส. จำเป็นต้องของดการขายทอดตลาดทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ออกไปอย่างไม่มีกำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ประกอบกับคำสั่งกรมบังคับคดี ที่ 40/2550 ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550 (เรื่อง การบังคับคดีเกษตรกร) กำหนดให้กรณีที่ ธ.ก.ส. ของดการบังคับคดี โดยมีหนังสือแสดงความยินยอมของเกษตรกรลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งอนุญาตตามระยะเวลาที่ขอ ส่งผลให้ไม่สามารถขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้และไม่สามารถยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ เนื่องจากยังไม่อาจขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้ |
|
(3) ภาระหนี้สินของลูกหนี้เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการชะลอการดำเนินคดีของลูกหนี้เกษตรกร |
การชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีส่งผลให้ลูกหนี้ต้องรับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญาและคำพิพากษา ซึ่งหาก ธ.ก.ส. ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีและชะลอการใช้สิทธิทางศาลออกไปนานเท่าใด ลูกหนี้ก็จะต้องรับภาระดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น และการที่ธนาคารปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานาน ก่อนมาใช้สิทธิทางศาลเป็นการเอาเปรียบและสร้างภาระเกินสมควรสำหรับลูกหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ต้องรับภาระทั้งดอกเบี้ยปกติและดอกเบี้ยผิดนัดจนอาจกลายเป็นการแสวงหาประโยชน์อันไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ |
|
(4) ธ.ก.ส. มีความเสี่ยง เนื่องจากไม่สามารถบังคับหลักประกันได้อย่างเต็มที่ หรือหลักประกันได้รับความเสียหาย รวมถึงกรณีที่ไม่อาจบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้ |
1) หลักประกันจำนองมักได้รับความเสียหายหรือเปลี่ยนสภาพ เช่น การถูกบุกรุก การเวนคืนถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ซึ่งทำให้มูลค่าของหลักประกันลดลง 2) หลักประกันที่เป็นบุคคล เช่น การค้ำประกันลูกหนี้ร่วม โดยบุคคลดังกล่าวอาจเสียชีวิต ป่วย ทุพพลภาพ อพยพย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่ หรืออาจก่อหนี้สินภายนอกจนเกินความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ 3) ทรัพย์สินของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ธ.ก.ส. มักถูกเจ้าหนี้ภายนอกบังคับชำระหนี้ไปก่อนที่ ธ.ก.ส. จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีได้ 4) ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ ธ.ก.ส. ได้ยึดไว้แล้ว ต่อมาเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาบังคับคดี อาจมีการเสื่อมถอยด้อยค่า ทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถยึดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพิ่มเติมได้อีก |
|
(5) ผลกระทบต่อการดำเนินงาน ของ ธ.ก.ส. |
1) ลูกค้าเงินฝากขาดความเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการสิทธิเรียกร้อง ของ ธ.ก.ส. และกังวลว่าเงินฝากที่นำไปปล่อยสินเชื่ออาจไม่ได้รับชำระหนี้คืน เนื่องจาก ธ.ก.ส. ไม่อาจบังคับเอากับหลักประกันและทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2) เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับ ธ.ก.ส. ในการติดตามดูแลรักษาทรัพย์สินที่จะต้องยึดทรัพย์บังคับคดี ทำให้พนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานด้านอื่นที่เป็นงานสร้างรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. ได้อย่างเต็มที่ 3) ธ.ก.ส. ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้อย่างเต็มที่ โดย ธ.ก.ส. มีจำนวนดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกปี เนื่องจากไม่สามารถขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกรได้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้จากการบังคับคดี และการชะลอการใช้สิทธิทางศาลทำให้ธนาคารต้องมีการตั้งสำรองหนี้สูญและมีค่าเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นจำนวนมากในแต่ละปี |
|
(6) การสร้างการรับรู้/การกล่าวอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในทางที่ผิด |
เป็นช่องทางให้บุคคลภายนอกแสวงหาผลประโยชน์จากลูกหนี้เกษตรกรโดยมิชอบจากการกล่าวอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เช่น การเรียกร้องเงินจากเกษตรกรเพื่อเข้าโครงการปลดหนี้ โดยหลอกลวงว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาชำระหนี้แทนเกษตรกร หรือการเรียกรับเงินจากเกษตรกรเพื่อดำเนินการเจรจาต่อรองกับสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น |
3. กค. จึงมีความจำเป็นต้องขอเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เดิม มติคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2550) |
ขอทบทวนปรับปรุงในครั้งนี้ |
|
1. ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการ ดังนี้ 1.1 เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน 1.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน 1.3 คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงอายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีและการบังคับคดีประกอบด้วย |
1. ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการ ดังนี้ 1.1 เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน เว้นแต่กรณีหนี้นั้นจะขาดอายุความฟ้องร้อง หรือไม่สามารถแก้ไขเพื่อมิให้หนี้ขาดอายุความโดยวิธีอื่นใดได้ 1.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้และไม่สามารถเจรจาแก้ไขหนี้ร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป 1.3 คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน เฉพาะกรณีที่ยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดีเท่านั้น โดยเมื่อมีการชะลอการขายทอดตลาดแล้วจะต้องมีอายุบังคับคดีคงเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.3 ข้างต้นได้ โดยพิจารณาถึงสภาพปัญหาของลูกหนี้เกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4548