การร่วมมือกับรัฐบาล สปป. ลาว ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 19 April 2024 00:46
- Hits: 11945
การร่วมมือกับรัฐบาล สปป. ลาว ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการตามขอบเขตของโครงการ แหล่งที่มาของเงินทุน รูปแบบวิธีการ และเงื่อนไขทางการเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ R12 จำนวน 1,833,747,000 บาท
2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณเป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี สำหรับวงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และร้อยละ 50 ในส่วนของเงินกู้จำนวน 871,342,000 บาท รวมทั้งสิ้น 962,405,000 บาท
3. เห็นชอบแนวทางการกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ จำนวน 871,342,000 บาท ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนด
4. กรณี สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. เพื่อชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากเงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศไปก่อน ทั้งนี้หาก สพพ. เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องจะขอรับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ จุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1.1 ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway)
1.2 ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่างๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน
1.3 ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย
1.4 พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว
2. คณะกรรมการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) ได้มีมติในการประชุม คพพ. ครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ สปป. ลาว สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) และออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ของโครงการ R12 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 กระทรวงการเงิน สปป. ลาว ได้มีหนังสือขอรับความช่วยเหลือทางการเงินในการดำเนินโครงการ R12 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) และเป็นประตูการค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปยังเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) โดย คพพ. (นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร เป็นประธานกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งในขณะนั้น) ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) แก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการ R12 โดยมีเงื่อนไขตามที่ระบุในร่างสัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามสัญญามาตรฐานของ สพพ. (ที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดของไทยที่ใช้สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินทุกโครงการของ สพพ. ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา) โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ รูปแบบวิธีการและแหล่งที่มาของเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้
2.1 เงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
(1) เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
|||||||||||||||||||
(1.1) อัตราดอกเบี้ย (1.2) อายุสัญญา (1.3) ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. (1.4) ระยะเวลาการเบิกจ่าย (1.5) ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษา (1.6) การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย (1.7) ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา (1.8) กฎหมายที่ใช้บังคับ |
ร้อยละ 1.75 ต่อปี 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี) ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้ 6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา นิติบุคคลสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา นิติบุคคลสัญชาติไทย กฎหมายไทย |
||||||||||||||||||
(2) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน |
|||||||||||||||||||
(2.1) วงเงินให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน1 (Concessional Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,833,747,000 บาท ดังนี้
(2.2) แหล่งที่มาของเงินทุนโครงการ R12 ประกอบด้วย (2.2.1) เงินงบประมาณ แบ่งเป็น 1) วงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และ 2) วงเงินให้กู้ (ร้อยละ 50 ของวงเงินให้กู้) จำนวน 871,342,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 962,405,000 บาท โดยขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก สงป. เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี ดังนี้
(2.2.2) เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (เงินนอกงบประมาณ) คิดเป็นร้อยละ 50 ในส่วนของเงินกู้ รวมวงเงิน 871,342,000 บาท ซึ่ง สพพ. จะกู้เงินระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก ใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี สำหรับปีที่ 6 - 15 และออกพันธบัตรระยะเวลา 15 ปี สำหรับปีที่ 16 - 30 โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี โดย สพพ. เป็นผู้รับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้ กรณีที่ สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. ไปก่อน หาก สพพ. ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป |
2.2 รายละเอียดค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินให้ความช่วยเหลือ
รายการ |
จำนวนเงิน (บาท) |
(1) ค่าก่อสร้าง |
1,676,000,000 |
(1.1) งานก่อสร้างภายใต้วงเงินกู้ |
1,584,937,000 |
(1.2) งานก่อสร้างภายใต้วงเงินให้เปล่า - งานปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว - งานสร้างจุดพักรถ - งานปรับปรุงด่านนาเพ้า |
91,063,000 44,212,000 6,454,000 40,397,000 |
(2) ค่าที่ปรึกษา |
51,000,000 |
(3) ค่าบริหารจัดการ |
20,000,000 |
(4) ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด |
84,000,000 |
(5) ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. |
2,747,000 |
รวมทั้งสิ้น |
1,833,747,000 |
ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ R12 แล้ว สพพ. จะดำเนินการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรลุโครงการดังกล่าวตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง 5 ปี ต่อไป
3. จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC)
และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย - สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น ทั้งนี้ สถิติมูลค่าการค้าขายชายแดนไทย - สปป. ลาว ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2566 ผ่านด่านศุลกากรนครพนมสามารถแสดงได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
||||
2562 |
2563 |
2564 |
2565 |
2566 |
|
มูลค่ารวม |
89,774.17 |
74,311.00 |
118,388.00 |
83,816.71 |
122,382.79 |
มูลค่านำเข้า |
22,919.80 |
12,716.14 |
19,241.23 |
28,105.82 |
33,098.59 |
มูลค่าส่งออก |
66,854.37 |
61,594.86 |
99,146.77 |
55,710.89 |
89,284.20 |
ดุลการค้า |
43,934.57 |
48,878.72 |
79,905.54 |
27,605.07 |
56,185.61 |
ที่มา : สรุปภาวะการค้าชายแดนจังหวัดนครพนมประจำเดือนกันยายน 2566, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและสิ่งปรุงแต่ง และสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ พลังงานไฟฟ้า โซล่าเซลล์ ปุ๋ยเคมี ปูนซิเมนต์ แบตเตอรี่ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า
4. สถานะทางการเงินของ สพพ. และ สปป. ลาว
4.1 โครงการ R12 เป็นโครงการที่มีลักษณะของการทยอยเบิกจ่ายเงินตามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่ง สพพ. จะจัดหาเงินกู้ในรูปแบบสัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) โดยการกำหนดอายุเงินกู้และเงื่อนไขเงินกู้ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด แผนการเบิกจ่ายและแผนการดำเนินโครงการ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยออกตราสารหนี้ระยะยาว สพพ. จะสำรวจความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ก่อนการออกตราสารหนี้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินและนักลงทุน ทั้งนี้ หากสภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย สพพ. อาจพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : PN) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) ไปพลางก่อน
4.2 ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 สปป. ลาว เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. แล้วทั้งสิ้น 21 โครงการ วงเงินรวม 15,322.86 ล้านบาท และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้ประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของ สปป. ลาว มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2566 และรัฐบาล สปป. ลาว ได้ใช้นโยบายจัดการหนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยจัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจและรายได้ภาคพลังงานเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อเลื่อนการชำระหนี้ และกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ ทั้งนี้ สปป. ลาว ตั้งเป้าหมายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ร้อยละ 89 ภายในปี 2568
4.3 สพพ. มีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงหาก สปป. ลาว มีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ และมีการจัดทำแนวปฏิบัติกรณีประเทศเพื่อนบ้านผิดนัดชำระหนี้และกรณีประเทศผู้รับความช่วยเหลือประกาศหยุดพักชำระหนี้ เพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดการขาดสภาพคล่อง ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาสภาพคล่อง สพพ. มีแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย 1) การขอรับจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ 2) การกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศหรือระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องของ สพพ. ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
5. กค. แจ้งว่า สงป. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการ R12 สพพ. จะขอรับจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 962,405,000 บาท และ สพพ. จะรับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา สำหรับภาระงบประมาณในส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนของโครงการ R12 หาก สพพ. ได้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้พิจารณาสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ขัดข้องที่ สพพ. จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการ R12 ทั้งนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว เห็นควรให้ สพพ. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับการชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้และดอกเบี้ยที่ สพพ. กู้รวมทั้งความเสี่ยงกรณี สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ เห็นควรให้ สพพ. ใช้เงินสะสมของหน่วยงานและกำหนดแนวทางและวิธีการบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยดำเนินการให้เป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
___________________
1 เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน หมายถึง เงินกู้ที่มีระยะเวลาในการชำระเงินคืนยาวกว่าเงินกู้ทั่วไปและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากและในเงินจำนวนนั้นต้องมีส่วนที่เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า (Grants)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 18 เมษายน 2567
4544