แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2567 (แผนปฏิบัติการประจำปี 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 April 2024 12:18
- Hits: 7064
แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2567 (แผนปฏิบัติการประจำปี 2567)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2567 (แผนการใช้จ่ายเงินฯ) (แผนปฏิบัติการประจำปี 2567) ซึ่งเป็นโครงการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 8 หน่วยงาน จำนวน 212 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 530.09 ล้านบาท โดยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ1 (คณะกรรมการบริหารฯ) รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดไว้
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการบริหารฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 (29 พฤษาคม 2566) ครั้งที่ 3/2566 (4 กันยายน 2566) และครั้งที่ 4/2566 (1 ธันวาคม 2566) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน) ได้มีมติอนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินฯ โดยเป็นโครงการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวม 8 หน่วยงาน จำนวน 212 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 530.09 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ชื่อโครงการ/โครงการย่อย |
จำนวน โครงการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
(1) แผนปฏิบัติการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ |
49 |
413.01 |
(1.1) การผลักดันคลัสเตอร์เป้าหมาย เช่น โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติโครงการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสินค้าเกษตร อาหาร และธุรกิจบริการบริการอาหาร โครงการพัฒนาและส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ โครงการส่งเสริมธุรกิจบันเทิงไทยในงาน Cannes Film Festival 2024 |
39 |
371.71 |
(1.2) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy Academy) โครงการจัดสัมมนา “ATA Camet Passport of the Goods” |
4 |
14.77 |
(1.3) การพัฒนาส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างภาพลักษณ์และส่งสริมการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ เช่น โครงการสร้างแบรนด์ประเทศไทยในด้านการค้าและบริการ |
3 |
15.22 |
(1.4) การพัฒนาองค์กรสู่อนาคต เช่น โครงการสนับสนุนค่าบำรุงสมาชิกของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย |
6 |
11.30 |
(2) แผนปฏิบัติการด้านการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดตลาด เช่น โครงการประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าว โครงการประชุมเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา |
148 |
55.09 |
(3) แผนปฏิบัติการด้านการเร่งรัดทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ |
15 |
61.99 |
(3.1) การรุกตลาดศักยภาพเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่ และขยายสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก เช่น โครงการงานแสดงสินค้า Thailand Week 2024 เจนไน โครงการพัฒนาและส่งเสริมการค้าและธุรกิจในต่างประเทศ ตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลาง |
14 |
56.39 |
(3.2) การผลักดันการค้าผ่านช่องทางตลาดพาณิชย์ดิจิทัลและช่องทางกระจายสินค้ารูปแบบใหม่ ได้แก่ โครงการเจาะตลาดสินค้า E Commerce ผ่านสื่อสมัยใหม่ |
1 |
5.60 |
รวม |
212 |
530.09 |
2. ประโยชน์ที่ไทยได้รับ
2.1 ด้านเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในโลกการค้าปัจจุบันและเพิ่มช่องทางการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเจรจาการค้ากับผู้ซื้อรายใหม่ๆ รวมถึงประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการของผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศอันจะมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกเติบโต
2.2 ด้านการดำเนินโครงการ ส่งเสริมการบริหารกิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความเร่งด่วน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงในโลกการค้าปัจจุบัน (Mega Trend) ตลอดจนการรักษาตลาดเดิมขยายตลาดใหม่ การผลักคันการค้าชายแดน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2.3 ด้านงบประมาณ กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสามารถอนุมัติจัดสรรให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งรัด ผลักดัน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการค้าระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
_____________
1กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พณ. จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567
4364