รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 April 2024 12:15
- Hits: 7025
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2567 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีค่าอยู่ที่ 89.35 ลดลงร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน จากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลงตามการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อาทิ ยานยนต์ จากการผลิตรถปิคอัพ 1 ตัน เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักปรับลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตามการชะลอตัวของตลาดโลก ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ปรับตัวลดลงจาก Hard Disk Drive เป็นหลักจากความต้องการอุปกรณ์การจัดเก็บชะลอตัว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีอุปกรณ์อื่นๆ ในการจัดเก็บข้อมูลมีพื้นที่จัดเก็บมากและประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีโรงกลั่นบางโรงหยุดซ่อมบำรุง สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ชนิดใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการไฟฟ้าตามรอบการบำรุงรักษา ประกอบกับมีงานโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนส่งผลให้ความต้องการใช้สายไฟฟ้ามีมากขึ้น เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งขยายตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษจึงมีความต้องการมากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 9.63 จากรถบรรทุกปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-27.90%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่ามากขึ้น และหดตัวจากตลาดส่งออก (-3.92%)
2. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 6.45 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เป็นหลัก
3. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.71 จากภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่และน้ำดื่มบรรจุขวด ขยายตัวร้อยละ 14.16 จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก ตามความต้องการบริโภคหลังสภาพอากาศร้อนขึ้นรวมถึงมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
2. ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวร้อยละ 58.68 จากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรได้ราคาดี เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น
3. เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวร้อยละ 19.00 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ (+54.38%) และตลาดส่งออก (+15.08%) โดยเฉพาะคู่ค้าหลักสำคัญ (ฮ่องกง อังกฤษ และ UAE) ที่ยังมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่อง รวมถึงฐานต่ำในปีก่อนจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2567
อุตสาหกรรม เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม การเร่งก่อสร้างโครงการภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.0-3.0 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการไทย และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics อาจจะส่งผลดีต่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3.0-5.0 เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามความต้องการของตลาดโลกและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ความต้องการอุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภค
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง จะขยายตัว ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ โดยยางแปรรูปขั้นปฐมจะขยายตัวจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยางรถยนต์จะขยายตัวจากแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ขณะที่ถุงมือยางจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้า เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ยังคงชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567
4363