WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566

Gov 47

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานและภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า รายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ก่อนการประชุม กนง.)

          สาระสำคัญ

          1. รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 

              1.1 เศรษฐกิจโลก 

              เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.7 ในปี 2566 ปี 2567 และปี 2568 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวตามแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกจึงอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ซึ่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวของภาคบริการและภาคการผลิตที่ปรับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น โดยภาคการผลิตมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ (ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ของโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลัก ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาและความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับเพิ่มขึ้น และการค้าโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดตามอุปสงค์ (demand) ของประเทศจีน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา – จีน ที่อาจรุนแรงขึ้นรวมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน – ไต้หวัน รัสเซีย – ยูเครน และอิสราเอล – ฮามาส ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด 

              1.2 เศรษฐกิจไทย

                    1.2.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.1 ในปี 2566 ปี 2567 และปี 2568 ตามลำดับ สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการรวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า ส่วนภาคการส่งออกฟื้น ตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้นภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มในอดีต และได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (visa free) ที่ให้กับนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน รวมถึงภาคการส่องออกสินค้ากลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยที่ลดลง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐที่ยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) ซึ่งหากรวมผลของโครงการดังกล่าวคาดว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 และปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ

                    1.2.2 การบริโภคภาคเอกชน มูลค่าการส่งออกสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ สรุปได้ ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

หัวข้อ

 

ปี 2566

คาดการณ์ ปี 2567

คาดการณ์ ปี 2568

การบริโภคภาคเอกชน

 

7.1

3.2

3.0

- ในปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 ตามการบริโภคในหมวดบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม จำนวนชั่วโมงทำงาน และรายได้แรงงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

- ในปี 2567 และปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย

 

-1.5

4.3

3.3

- ในปี 2566 หดตัวที่ร้อยละ 1.5 ลดลงจากประมาณการเดิมในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกสินค้าดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

- ในปี 2567 และปี 2568 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับทิศทางการค้าโลกกลับมาขยายตัวในปี 2566

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อที่ครอบคลุมทุกหมวดสินค้าและบริการที่ใช้บริโภคทั่วไป)   1.3 2.0 1.9

- ในปี 2566 มีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 โดยเป็นการปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน (มาตรการปรับลดค่าไฟและราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล) และราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด

- ในปี 2567 และปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับตามหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่จะกลับมาสูงขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 2.0 ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อที่หักราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก)   1.3 1.2 1.3

- ในปี 2566 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.3

- ในปี 2567 และปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และ ร้อยละ 1.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น

 

              1.3 ภาวะการเงิน

                    1.3.1 ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นเล็กน้อย จากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่สูงขึ้นตามการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะปลานกลางและระยะยาวปรับลดลง ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้ไม่ยาวนานเท่าที่คาด

                    1.3.2 ด้านปริมาณการระดมทุน การกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือนไตรมาสที่ 3 มีภาพรวมชะลอลง โดยสินเชื่อภาคเอกชนชะลอตัวจากการชำระคืนหนี้หลังจากที่ขยายตัวมในอัตราสูงในช่วงวิฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เป็นสำคัญ ประกอบกับการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยความต้องการสินเชื่อในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

                    1.3.3 ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 36.01 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าจากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อนที่ 35.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ไหลเข้าสุทธิในตลาดตราสารหนี้และไหลออกสุทธิจากตลาดตราสารทุน

              1.4 การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 

                    1.4.1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50 ต่อปี เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพและเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวและป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน รวมถึงรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า กนง. จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อไป

                    1.4.2 ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพอย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และภาคครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567

 

 

4362

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

CKPower 720x100

TOA 720x100

Banner GPF720x100 PX

EXIM One 720x90 C J

QIC 720x100

kbank 720x100 66

วิริยะ 720x100

MTL 720x100

AXA 720 x100

gen 720x100

hino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!