การทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 April 2024 11:40
- Hits: 7027
การทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
1. ความเป็นมา
1.1 มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้นำแผนการคลังระยะปานกลางมาประกอบการพิจารณาด้วยและให้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายงบประมาณ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน สถานะของหนี้สาธารณะ และความสามารถในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
1.2 มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ในการจัดทำงบประมาณประจำปี ให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ เมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
1.3 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท รายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาทและวงเงินกู้เพื่อชดเขยการขาดดุล จำนวน 313,000 ล้านบาท
1.4 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมยายน 2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
1.5 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 2 ที่กำหนดให้ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาทบทวนประมาณการรายได้ การปรับปรุงกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันที่ 5 เมยายน 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2567
2. วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
เพื่อดำเนินการตามนัยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น สำนักงบประมาณได้จัดให้มีการประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันที่ 5 เมษายน 2567 มีข้อสรุปดังนี้
2.1 สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 - 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลังในระยะต่อไป สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.1 - 2.1 (ค่ากลางร้อยละ 1.6) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
2.2 ประมาณการรายได้รัฐบาล
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม จำนวน 3,454,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
2.3 นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการรายได้รัฐบาลตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ดังกล่าวข้างต้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยและอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 865,700 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดไว้ 3,480,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ดังนี้
1) โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,736,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 196,431.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.9 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 73.0
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท)
(3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 155,619.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.1 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 20.4
(4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 31,780 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.4
2) รายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6
3) งบประมาณขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 172,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.7
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 เมยายน 2567 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
รายละเอียดโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
โครงสร้างงบประมาณ |
ปีงบประมาณ 2567 |
ปีงบประมาณ 2568 |
||||
จำนวน |
เพิ่ม/ - ลดจากปี 2566 |
จำนวน |
เพิ่ม/ - ลด จากปี 2567 |
|||
จำนวน |
ร้อยละ |
จำนวน |
ร้อยละ |
|||
1. วงเงินประมาณรายจ่าย |
3,480,000.0 |
295,000.0 |
9.3 |
3,752,700.0 |
272,700.0 |
7.8 |
- สัดส่วนต่อ GDP |
18.7 |
19.2 |
||||
1.1 รายจ่ายประจำ |
2,540,468.6 |
137,928.9 |
5.7 |
2,736,900.0 |
196,431.4 |
7.7 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ |
73.0 |
72.9 |
||||
1.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง |
118,361.1 |
118,361.1 |
100.0 |
|
118,361.1 |
100.0 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ |
3.4 |
|
||||
1.3 รายจ่ายลงทุน |
710,080.5 |
20,600.6 |
3.0 |
865,700.0
|
155,619.5 |
21.9
|
- สัดส่วนต่องบประมาณ |
20.4 |
23.1 | ||||
1.4 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ |
118,320.0 |
18,320.0 |
18.3 |
150,100.0 |
31,780.0 | 26.9 |
- สัดส่วนต่องบประมาณ | 3.4 | 4.0 | ||||
2. รายได้ - สัดส่วนต่อ GDP |
2,787,000.0 14.9 |
297,000.0 |
11.9 |
2,887,000.0 14.8 |
100,000.0 |
3.6 |
3. วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล - สัดส่วนต่อ GDP |
693,000.0 3.7 |
2,000.0 |
0.3 |
865,700,0 4.4 |
172,700.0 |
24.9 |
4. กรอบวงเงินกู้สูงสุดเพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ |
790,656.0 |
73,656.0 |
10.3 |
870,620.0 |
79,964.0 |
10.1 |
5. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) |
18,655,983.0 |
734.770.0 |
4.1 |
19,570,126.0 |
914,143.0 |
4.9 |
หมายเหตุ : 1. โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นข้อมูลตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2. โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นข้อมูลตามมติที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567
3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ตามที่ปรากฏในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567
4357