ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 April 2024 11:15
- Hits: 7038
ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง1 (ความตกลง GMS CBTA) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 (The Eighth Meeting of the CBTA Joint Committee : 8th JC GMS CBTA (การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 ธันวาคม 2566) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 8 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) โดยมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลง GMS CBTA (บันทึกความเข้าใจฯ) “ระยะแรก”2 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมฯ เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ มีผลลัพธ์การประชุมสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
2.1 การขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” |
● ให้ขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” ออกไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 25693 เพื่อให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถกลับมาเดินรถระหว่างประเทศภายใด้บันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” อีกครั้ง (เป็นการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนติดต่อกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาการค้าชายแดนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค) และให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนนและเอกสารนำเข้าชั่วคราวสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงรวบรวมและแลกเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนรถให้ประเทศสมาชิกทราบอย่างน้อยล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มกลับมาเดินรถอีกครั้ง |
|
2.2 การกลับมาดำเนินการขนส่งตามบันทึกความ เข้าใจฯ “ระยะแรก” อีกครั้ง |
● ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการขนส่งระหว่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 25674 โดยรวมถึงเส้นทางและจุดผ่านแดนที่เพิ่มเติมไว้5 ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติม ภายใต้พิธีสาร 1 ของความตกลง GMS CBTA (บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางฯ) ● ให้มีการดำเนินการ เช่น (1) ให้มีการออกใบอนุญาตฯ เป็นประจำทุกปี (มีอายุ 12 เดือน) และออกเอกสารนำเข้าชั่วคราว ทุก 2 ปี (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการขนส่งและศุลกากรของแต่ละประเทศประชาสัมพันธ์การกลับมาเดินรถอีกครั้งภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” |
|
2.3 กำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่ง (Transport Sub-Committee) |
● ให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับเส้นทางและจุดผ่านแดนเพิ่มเติมภายใต้พิธีสาร 1 ของความตกลง GMS CBTA |
|
2.4 กำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านศุลกากร (Customs Sub-Committee) |
● ให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านศุลกากรคู่ขนานกับการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งภายใต้ความตกลง GMS CBTA ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรผ่านแดนสำหรับการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” |
|
2.5 แผนดำเนินงาน GMS CBTA ปี 2567 - 2571 |
● เห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งระบุแนวทางการดำเนินการในประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) การดำเนินการและการติดตามผลของบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” (2) การรวบรวม วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า (สำรวจและสอบถามความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อประเมินผลประโยชน์ที่ผู้ประก่อบการได้รับจากความ ตกลง GMS CBTA และเพื่อปรับปรุงความตกลง GMS CBTA) (3) การจัดทำคู่มือเส้นทางเดินรถ (Corridor Handbook) ตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” (เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศที่ครอบครองใบอนุญาตการขนส่งทางถนน) (4) การเข้าร่วมการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” ในอนาคตของเมียนมา (5) การหารือเกี่ยวกับความตกลง GMS CBTA ฉบับปรับปรุง (CBTA 2.0) เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น |
|
2.6 การติดตามและประเมินผล |
● มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการขนส่งแห่งชาติ (NTFC) จัดเก็บข้อมูลการค้าและการขนส่งของจุดข้ามแดนระหว่างประเทศที่ระบุไว้ในพิธีสาร 1 ของความตกลง GMS CBTA |
3. ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ได้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามร่างแถลงการณ์ร่วมฯ การประชุมที่ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น
3.1 เพิ่มถ้อยคำในหัวข้อการกลับมาดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” เกี่ยวกับการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการขนส่งและศุลกากรของแต่ละประเทศดำเนินการประชาสัมพันธ์การกลับมาเดินรถอีกครั้งภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก”
3.2 แก้ไขถ้อยคำในหัวข้อแผนดำเนินงาน GMS CBTA ปี 2567 – 2571 จากเดิม “(6) การเห็นชอบและรับรองความตกลง GMS CBTA ฉบับปรับปรุง (CBTA 2.0)” เป็น “(6) การหารือเกี่ยวกับความตกลง GMS CBTA ฉบับปรับปรุง (CBTA 2.0)”
_______________
1เป็นความตกลงเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย สาธรารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ราชอาณาจักรกัมพูชา จีน และสาธารณสังคมนิยมเวียดนาม โดยประเทศภาคีความตกลงฯ จะต้องจัดทำภาคผนวก (Annex) และพิธีสาร (Protocol) เพื่อกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติการขนส่ง รวม 20 ฉบับ เช่น เส้นทางที่ใช้ในการขนส่งผ่านแดน โควตาการบริการขนส่งและการออกใบอนุญาตขนส่งข้ามพรมแดน ค่าธรรมเนียมผ่านแดน เป็นต้น
2บันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” เป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินการความตกลง GMS CBTA ในระยะแรก โดยให้มีการจำกัดจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนนภายใต้ความตกลงฯ สำหรับผู้ประกอบการขนส่งของแต่ละประเทศ ไม่เกินประเทศละ 500 ใบ รวมถึงการให้งดเว้นการจ่ายอากรขาเข้าและวางค้ำประกันภาระภาษีศุลกากร สำหรับการนำรถยนต์เข้าในเขตแดนประเทศภาคีสมาชิกและการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เป็นการชั่วคราว
3เดิมการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ส่งผลให้ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไม่สามารถเดินรถระหว่างประเทศภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” ได้ (เช่น การเดินรถเพื่อการพาณิชย์) ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ “ระยะแรก” ในครั้งนี้
4เพื่อให้แต่ละประเทศมีเวลาสำหรับดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงออกใบอนุญาตและเอกสารนำเข้าชั่วคราวให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าว
5เพิ่มเส้นทางและจุดผ่านแดนจากเดิม 13 เส้นทาง เป็น 24 เส้นทาง (เพิ่มขึ้น 11 เส้นทาง โดยมีเส้นทางและจุดผ่านแดนเพิ่มเติม เช่น เส้นทางระหว่างไทย - กัมพูชา [แหลมฉบัง - พนมสารคาม - กบินทร์บุรี - สระแก้ว - อรัญประเทศ (ไทย) - ปอยเปต (กัมพูชา] เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 เมษายน 2567
4355