ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:51
- Hits: 6853
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. 2548 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นชนิดร้ายแรง เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ (1) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความร่วมมือระหว่างประเทศในกรณีจำเป็นเร่งด่วน (2) เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ และ (3) เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานใน การตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด และให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหากฎกระทรวงปี 2548 เช่น เปิดให้มหาวิทยาลัยเอกชนและผู้รับอนุญาตด้านยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และยาสามารถขออนุญาตเฉพาะวัตถุประสงค์เป็นสารมาตรฐานได้ ปรับปรุงให้ยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก กำหนดขั้นตอนกระบวนการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับระยะเวลาการพิจารณาคำขอ การแจ้งผลการพิจารณา การอุทธรณ์ กำหนดเพิ่มหน้าที่ผู้รับอนุญาตให้สอดคล้องกับหน้าที่ของผู้รับอนุญาตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ 3 นับจากปีที่อนุญาต สำหรับการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก็ไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังนี้
1.1 เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน
1.2 เพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์
1.3 เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์
2. กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต ดังนี้
2.1 ผู้ขออนุญาตตามข้อ 1.1 ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล หรือสภากาชาดไทย
2.2 ผู้ขออนุญาตตามข้อ 1.2 ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือสภากาชาดไทย
2.3 ผู้ขออนุญาตตามข้อ 1.3 กรณีขออนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
(2) สภากาชาดไทย
(3) สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(4) ผู้รับอนุญาตด้านยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ หรือยา ตามกฎหมายว่า ด้วยการนั้น
กรณีผู้ขออนุญาตตาม (3) หรือ (4) ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตาม กฎหมายไทย
3. กำหนดผู้มีอำนาจอนุญาต ดังนี้
3.1 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.1
3.2 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณาอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.2
3.3 กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมายพิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.3
4. กำหนดกระบวนการพิจารณาอนุญาต ดังนี้
4.1 การยื่นคำขอ หรือการติดต่อใดๆ และการออกเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ดำเนินการดังกล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการ อย. กำหนด
4.2 เมื่อได้รับคำขอ ให้ผู้อนุญาตตรวจสอบคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ หากคำขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานใด ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการแก้ไข และเมื่อเห็นว่าคำขออนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร และหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้ออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ขออนุญาต แต่หากกรณีที่ผู้ขออนุญาต ไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป ให้คืนคำขออนุญาต พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอให้ทราบด้วย และให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
4.3 กรณีคำขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.2 ให้ผู้อนุญาตตามข้อ 3.2 (รมว. สธ. โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด) พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบพร้อมออกใบอนุญาตภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต ในกรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุผลหรือความจำเป็นนั้นให้ผู้ขออนุญาตทราบก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
4.4 กรณีคำขอรับใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.3 ให้ผู้อนุญาตตามข้อ 1.3 (เลขาธิการ อย.หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย) พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบ พร้อมออกใบอนุญาตภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต ในกรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุผลหรือความจำเป็นนั้นให้ผู้ขออนุญาตทราบก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
15 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต
4.6 กำหนดให้ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามวัตถุประสงค์ข้อ 1.3 ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สามนับจากปีที่ออกใบอนุญาต (อายุ 3 ปี) และให้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ พร้อมด้วยข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานอื่นตามที่กำหนดในแบบคำขอต่ออายุใบอนุญาต โดยเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาตจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น สำหรับการอนุญาตหรือใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. 2548 ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตหรือใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ และให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าการอนุญาต หรือใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
5. กำหนดหน้าที่ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังนี้
5.1 ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เฉพาะสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น
5.2 จัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นส่วนสัดจากยาหรือวัตถุอื่น
5.3 จัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 สูญหาย หรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ
5.4 แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาต หากประสงค์จะทำลายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งคงเหลือจากการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมายร่วมเป็นพยานในการทำลายด้วย
5.5 จัดให้มีการทำบัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามที่ได้รับอนุญาต โดยต้องเก็บรักษาบัญชีไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดดำเนินการ
5.6 เสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือน ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันสิ้นเดือน
5.7 จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยรายละเอียดในฉลากอย่างน้อยต้องมีการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ปริมาณหรือความเข้มข้นของยาเสพติดให้โทษ รวมถึงเลขที่แสดงครั้งที่ผลิตหรือครั้งที่วิเคราะห์
6. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่จะมีการนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้งที่นำเข้า หรือส่งออก และกำหนดหน้าที่ผู้รับอนุญาตดังกล่าว ดังนี้
6.1 นำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่ตนนำเข้าหรือส่งออกมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษ เพื่อทำการตรวจสอบ
6.2 นำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามชนิดและจำนวนหรือปริมาณที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเฉพาะคราว ในกรณีที่ไม่สามารถส่งออกได้ตามจำนวนหรือปริมาณดังกล่าว ให้แจ้งต่อผู้อนุญาต เพื่อแก้ไขใบอนุญาตให้ถูกต้องตามจำนวนหรือปริมาณที่ส่งออกจริง
6.3 ในกรณีเป็นการนำเข้า ให้จัดส่งสำเนาใบอนุญาตส่งออกของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษ
7. กำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้
7.1 ใบอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท
7.2 ใบอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท
7.3 ใบอนุญาตส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท
7.4 ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท
7.5 ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท
7.6 ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท
7.7 การต่ออายุใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น
ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ออกให้แก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ
8. สรุปสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 พ.ศ. .... เทียบกับกฎหมายปัจจุบัน
ข้อ |
สรุปสาระสำคัญ |
ความแตกต่างเทียบกับกฎหมายปัจจุบัน |
|
1 |
วันใช้บังคับ : เมื่อพ้น 30 นับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา |
ปรับปรุง : จากเดิมให้ใช้บังคับทันที |
|
3 |
วัตถุประสงค์ในการอนุญาต |
คงเดิม : โดยแยกวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ออกมาเป็นอีกข้อหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 (3) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด |
|
4 - 6 |
คุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต |
ปรับปรุง : โดยเปิดให้มหาวิทยาลัยเอกชน และผู้รับอนุญาตด้านยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ และยาสามารถขออนุญาตเฉพาะวัตถุประสงค์เป็นสารมาตรฐานได้ |
|
7- 9 |
การยื่นคำขอ - เอกสารประกอบการยื่นคำขอ |
ปรับปรุง : โดยกำหนดเพิ่มเอกสารหลักฐาน ประกอบการยื่นคำขอให้มีความครบถ้วนและชัดเจน |
|
10 - 12 |
กระบวนการพิจารณาอนุญาต |
กำหนดเพิ่ม : เพื่อความชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับหลังๆ |
|
13 |
หน้าที่ผู้รับอนุญาต |
กำหนดเพิ่ม : เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับดูแล ซึ่งกำหนดสอดคล้องกันกับหน้าที่ผู้รับอนุญาตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 |
|
14 |
การปฏิบัติของผู้รับอนุญาตเมื่อใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือลบเลือนในสาระสำคัญ |
กำหนดเพิ่ม : ตามบทให้อำนาจตามมาตรา 34 วรรคสาม และมาตรา 35 วรรคสาม ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับหลังๆ |
|
15 |
การปฏิบัติของผู้รับอนุญาตเมื่อต้องการแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
กำหนดเพิ่ม : ตามบทให้อำนาจตามมาตรา 34 วรรคสาม และมาตรา 35 วรรคสาม ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับหลังๆ |
|
16-22 |
การนำเข้า-ส่งออก เฉพาะคราว |
ปรับปรุง : โดยเพิ่มการกำหนดเอกสารหลักฐานเพื่อความชัดเจน และรายละเอียดเล็กน้อย เพื่อความชัดเจนและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง |
|
23 |
อายุใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาต |
กำหนดเพิ่ม : โดยกรณีวัตถุประสงค์ตามร่างข้อ 3 (3) ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตได้ตามมาตรา 35 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด |
|
24 |
ให้อำนาจเลขา อย. ออกประกาศกำหนดแบบคำขอ/ใบอนุญาต |
กำหนดเพิ่ม : ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับหลังๆ |
|
25 |
สถานที่ยื่นคำขอ/การยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ |
ปรับปรุง : โดยให้ยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยสถานที่ยื่นคำขอคงเดิมคือ อย. |
|
26 |
อัตราค่าธรรมเนียม และการยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียม |
กำหนดเพิ่ม : โดยกำหนดสอดคล้องกับอัตราค่าธรรมเนียมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท |
|
27-28 |
บทเฉพาะกาล |
กำหนดเพิ่ม : ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับหลังๆ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4092