ร่างกฎกระทรวงการว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:45
- Hits: 6671
ร่างกฎกระทรวงการว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือ การเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ในการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ แต่โดยที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด
2. ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 47 บัญญัติให้ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหมวด 4 การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามหมวดนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือน สั่งพักใช้ ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามสมควรแก่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง
3. สธ. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงการว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ กรณีที่ผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหมวด 4 การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศ ที่ออกตามหมวดนี้ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 17-3/2566 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
4. สธ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้อาจส่งผลกระทบทางบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม การผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพและสร้างความเข้มแข็งในระบบการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสังคม โดยผู้รับอนุญาตที่กระทำความผิดได้รับการพิจารณาโทษตามที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการรั่วไหลของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ออกนอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ตามที่ สธ. เสนอ
ร่างกฎกระทรวง การว่ากล่าวตักเตือน การสั่งพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี พิจารณาว่ากล่าวตักเตือนแก่ผู้รับอนุญาตตามที่ได้อนุญาตไว้เมื่อเกิดเหตุ ดังนี้
1.1 กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ที่ไม่เป็นเหตุให้มีการนำยาออกนอกระบบควบคุม
1.2 กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม อันเป็นความผิดที่ไม่มีบทกำหนดโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ทั้งนี้ การว่ากล่าวตักเตือนดังกล่าวให้ทำเป็นหนังสือพร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติหรือแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง และในกรณีไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือว่ากล่าวตักเตือนให้ยื่นขอขยายก่อนระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในหนังสือว่ากล่าวตักเตือนจะสิ้นสุดลง พร้อมระบุเหตุผล และข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิบัติหรือแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดได้
2. กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี สั่งพักใช้ใบอนุญาตตามที่ได้อนุญาตไว้เมื่อเกิดเหตุ ดังนี้
2.1 กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่เป็นเหตุ ให้มีการนำยาออกนอกระบบการควบคุม
2.2 กระทำความผิดซ้ำในความผิดที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ภายในระยะเวลา 3 ปี
2.3 ไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคำสั่งว่ากล่าวตักเตือนของผู้มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน
2.4 ถูกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยา ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
2.5 กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอันเป็นความผิดที่มีบทกำหนดโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ทั้งนี้ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกิน 180 วัน ในกรณีมีการฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้มีอำนาจออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าวจะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่อายัดหรือยัดยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลือของผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้ ณ สถานที่ทำการของผู้รับอนุญาต หรือเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข หรือในกรณีจำเป็นจะเก็บรักษาไว้ที่อื่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
3. กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี สั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามที่ได้อนุญาตไว้เมื่อเกิดเหตุ ดังนี้
3.1 ผู้รับอนุญาตที่ปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามกฎกระทรวงหรือประกาศซึ่งออกตามหมวด 4 การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์
3.2 ฝ่าฝืนในระหว่างที่ถูกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต
3.3 มีการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเดิมที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตมาแล้ว
3.4 กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ที่เป็นเหตุให้มีการนำยาออกนอกระบบการควบคุมอันอาจก่อให้เกิดกรณีร้ายแรงมีผลกระทบต่อสังคม ประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
3.5 ถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยา ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ทั้งนี้ ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต้องทำลายหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในส่วนที่เกินกว่าที่กฎหมายให้มีไว้ในครอบครองที่เหลืออยู่ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือวันที่ได้ทราบผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ในกรณีที่จำหน่ายให้จำหน่ายแก่ผู้รับอนุญาตอื่นหรือแก่ผู้ที่เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย. เห็นสมควร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4091