ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:39
- Hits: 6820
ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เห็นชอบ และรับทราบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....
2. เห็นชอบข้อเสนอการทดลองดำเนินการตามหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาคัดเลือกและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทดลองดำเนินการตามหลักการสำคัญต่อไป
3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ ก.พ.ร. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนและความไม่สะดวก ต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต อันมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงได้บังคับใช้มากว่า 8 ปีแล้ว ถึงแม้จะมีผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการของภาครัฐให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายอันจะสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พบว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ตามกฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายยิ่งขึ้น และโดยที่แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (ฉบับปรับปรุง) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อลดขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงระบบและขั้นตอนการอนุญาตให้สะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในการอนุมัติ อนุญาต อันจะนำไปสู่การลดการทุจริตและประพฤติมิชอบ สมควรปรับปรุงพระราขบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาในการใช้บังคับกฎหมาย ขจัดผลอันไม่พึงประสงค์ตลอดทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ
3. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอหลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ต่อคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ ก.พ.ร. รับความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวมทั้งได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในกลุ่มภาคเอกชน พรรคการเมืองและนักวิชาการ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการตามร่างพระราชบัญญัติเรื่องนี้และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของหลักการเมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว และต่อมาได้นำเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 6/2566 วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้และทดลองดำเนินการในหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก.พ.ร. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 19,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายด้านงบดำเนินการ จำนวน 105,000,000 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจำนวน 3,500,000 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 5 ปีแรก ประมาณ 127,500,000 บาท
5. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก.พ.ร. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย https:// www.law.go.th และเว็บไชต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. https:// www.opdc.go.th ตั้งแต่วันที่ 4 - 30 พฤศจิกายน 2564 และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มภาคประชาชนจำนวน 2 ครั้ง พร้อมทั้งจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายพร้อมทั้งเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย https:// www.law.go.th และเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. https:// www.opdc.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 รวมทั้งได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง พร้อมกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง (จำนวน 2 ประเภท คือ ร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 4 ฉบับและร่างกฎกระทรวง จำนวน 3 ฉบับ) เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติจาก “พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็น “พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....” เพื่อขยายขอบเขตไปถึงการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน (ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการอนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง) และให้มีขอบเขตสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
2. ยกเลิกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และกำหนดให้ใช้บังคับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อพ้น 180 วัน เพื่อให้เวลาหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการตามร่างนี้ (เช่น การรับชำระค่าธรรมเนียมแทนการรับคำขอต่ออายุใบอนุญาต) ยกเว้นมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 30 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ เริ่มดำเนินการตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา (ได้แก่ การยกเลิกหรือปรับลดระบบอนุญาต และการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน)
3. กำหนดเพิ่มเติมขอบเขตของพระราชบัญญัติจากเดิมที่กำหนดให้ใช้บังคับกับการจดทะเบียนหรือการแจ้งที่กฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง โดยกำหนดเพิ่มให้รวมถึงกรณีที่ประชาชนขอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาขอให้ดำเนินการใดๆ หรือการขอรับบริการบรรดาที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้นด้วย
4. เพิ่มนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” เนื่องจากขยายขอบเขตของพระราชบัญญัติตามตามข้อ 1 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และเพิ่มนิยามคำว่า “ความเสี่ยง” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดกิจการหรือกระบวนงานใดๆ ที่จะพิจารณาปรับลดมาตรการในระบบอนุญาตการทดลองประกอบกิจการ รวมทั้งการขอยกเว้นการใดๆ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้
5. ให้ผู้อนุญาตทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี ในประเด็นต่างๆ เช่น (1) การพิจารณาความจำเป็นหรือมีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต (2) การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน (3) การอนุญาตที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเพียงกฎหมายฉบับเดียว และให้หน่วยงานส่วนกลางจัดทำคู่มือฉบับเดียวและให้ทบทวนคู่มือทุก 2 ปี
อนุญาตหรือบริการอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษได้ โดยผู้อนุญาตต้องจัดให้มีคู่มือประชาชนสำหรับช่องทางพิเศษนี้ด้วย
7. เพิ่มหลักการอนุญาตโดยปริยาย (Auto Approve) เมื่อเกินกำหนดระยะเวลาพิจารณาคำขอไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับการอนุญาตตามความประสงค์แทนที่จะถูกปฏิเสธคำขอเพราะขาดข้อมูลบางประการ
8. ให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดให้มีแบบฟอร์มคำขอใบอนุญาตหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเป็นภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาต
9. กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) เพื่ออำนวยความความสะดวกให้แก่ประชาชนกรณีการประกอบกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจำนวนมาก โดยออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ใบอนุญาตใดเป็นใบอนุญาตหลักได้แล้วใบอนุญาตอื่นของเรื่องนั้นจะเป็นใบอนุญาตรองซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหลักสามารถประกอบกิจการนั้นได้เลย โดยถือเสมือนว่าได้รับใบอนุญาตรองครบถ้วนแล้วด้วย ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตทุกใบให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
10. กำหนดขึ้นใหม่ในเรื่องการทดลองประกอบกิจการที่ต้องขอรับอนุญาต โดยใช้ระบบแจ้งไปพลางก่อนชั่วคราวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ต้องรอรัฐอนุญาตซึ่งอาจล่าช้าได้ รวมทั้งเพื่อให้ได้ทราบว่ากิจการที่ตนทดลองประกอบการนั้นสามารถประสบผลสำเร็จได้ตามความประสงค์หรือไม่
11. กำหนดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการยกเลิกอายุใบอนุญาตเพื่อให้เป็นใบอนุญาตถาวรหรือขยายอายุใบอนุญาตที่น้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างน้อย 5 ปี เพื่อลดภาระการต่ออายุใบอนุญาตและเพิ่มความแน่นอนให้แก่การประกอบกิจการของประชาชน
12. กำหนดให้ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้อนุญาตออกใบแทนได้โดยผู้รับอนุญาตไม่ต้องยื่นหลักฐานที่แสดงการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
13. กำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยพัฒนาต่อยอดจากศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) [ปัจจุบันให้บริการแล้ว 25 ประเภทธุรกิจรวม 134 ใบอนุญาต] โดยสำนักงาน ก.พ.ร. สามารถมอบให้เอกชนดำเนินการได้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้กำกับดูแลและขับเคลื่อนหน่วยงานให้บริการ
14. บทเฉพาะกาล กำหนดให้หน่วยงานที่มีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตทบทวนระบบอนุญาต และให้หน่วยงานทบทวน ปรับปรุงกระบวนการ และจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4089