ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 19:33
- Hits: 6421
ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. ....
2. อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ....
3. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
3.1 กรมประมง จำทำทะเบียนประวัติและออกหรือต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ
3.2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) และตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแก่คนต่างด้าว
3.3 กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพ และทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าว
3.4 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดทำสัญญาจ้างซึ่งครอบคลุมการสัมภาษณ์คน ต่างด้าว โดยให้สัญญาจ้างเป็นสัญญาที่ระบุระยะเวลาการจ้างและวันสิ้นสุดการจ้างไว้ด้วยพร้อมตรวจสอบความถูกต้อง และลงลายมือชื่อกำกับ
3.5 กรมการปกครอง จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู)
ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า
1. ปัจจุบันได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 เปิดให้คนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุและมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า หรือคนต่างด้าวที่เคยได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกหนังสือคนประจำเรือ สามารถยื่นขอรับหนังสือคนประจำเรือ ได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน ตามช่วงเวลาดังนี้ 1) ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน และ 2) ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งจะอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานในเรือประมงได้ไม่เกิน 2 ปี และใช้หนังสือคนประจำเรือตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมงฯ ทั้งนี้ คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 - 30 พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนประมาณ 6,000 คน เนื่องจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หากอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Overstay) จะส่งผลให้หนังสือคนประจำเรือที่ได้รับสิ้นผลทางกฎหมายและแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อนุญาตให้คนต่างด้าวดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานต่อไปได้
2. ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อดำเนินการขอรับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 แต่โดยที่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวไม่สอดรับกับช่วงเวลาการเปิดขึ้นทะเบียนคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ (กำหนดไว้ 2 ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน และระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน) จึงยังทำให้ไม่สามารถรองรับมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และคุ้มครองให้คนต่างด้าวได้รับการจ้างงานโดยถูกกฎหมายได้
3. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้มีการแก้ไขประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 เนื่องจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 ไม่สามารถรองรับมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาแรงงาน และคุ้มครองให้คนต่างด้าวได้รับการจ้างงานโดยถูกกฎหมายได้ และขอความอนุเคราะห์ปรับแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษฯ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิดขึ้นทะเบียนคนประจำเรือตามประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบประมงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
4. กษ. (กรมประมง) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมง ได้รับการจ้างงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ยกร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยขึ้น โดยแก้ไขปรับปรุงให้แรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีพิเศษ (Seabook เล่มสีเหลือง) ได้ตลอดทั้งปีและให้แรงงานสัญชาติอื่น (นอกเหนือจากสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สามารถมาทำงานในภาคประมงทะเลได้ในอนาคต
5. ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 มีมติรับทราบการดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ตามข้อ 4. แล้ว
6. กษ. (กรมประมง) ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 แล้ว รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ
1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. .... สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 .ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565
1.2 กำหนดนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่าบุคคลธรรมดาซึ่งไม่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ 1) สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา หรือเวียดนาม 2) ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น คนพื้นที่สูง คนไทยพลัดถิ่น 3) ไม่มีสถานะทางทะเบียนและได้รับบัตรประจำตัวตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร 4) สัญชาติอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด (เพิ่ม สัญชาติอื่น เพื่อรองรับการเปิดให้แรงงานสัญชาติอื่นสามารถมาทำงานในภาคประมงทะเลได้ในอนาคต)
1.3 กำหนดนิยามคำว่า “ใบอนุญาตทำงาน” หมายความว่าใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และให้หมายความรวมถึงการอนุญาตทำงานเอกสารอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวด้วย (เพิ่ม หลักฐานเอกสารอื่นที่แสดงการอนุญาตการทำงานตามกฎหมายเพื่อรองรับในกรณีกระทรวงแรงงานกำหนดให้ใช้เอกสารหลักฐานอื่นใดในการอนุญาตทำงาน)
1.4 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของคนต่างด้าวและช่วงเวลาการเปิดให้ยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ดังนี้
1) เป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามหรือสัญชาติอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
2) ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ และมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าสามารถยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ (ปัจจุบัน การยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน กรณีพิเศษ (Seabook เล่มสีเหลือง) กำหนดให้แค่คนต่างด้าวที่มีสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา แก้ไขเพิ่มเติมให้คนต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม (เพื่อให้ครอบคลุมคนต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ยังไม่เคยยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ) หรือสัญชาติอื่นฯ และกำหนดให้สามารถยื่นคำขอได้ตลอดทั้งปี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงานในภาคประมงทะเล จากเดิมที่กำหนดช่วงเวลาไว้ 2 ช่วง ได้แก่ 1) ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2) ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน
1.5 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาเอกสารประกอบการขอรับหนังสือคนประจำเรือ กรณีไม่มีใบอนุญาตทำงาน ดังต่อไปนี้
1) คนต่างด้าวจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพหรือใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลภาครัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ดำเนินการผ่าน MOU กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อตรวจสอบและควบคุมมาตรฐาน
2) เจ้าของเรือได้จัดทำหนังสือสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
3) คนต่างด้าวจะต้องยื่นคำขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดที่คนต่างด้าวยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับใบรับคำขอรับหนังสือคนประจำเรือจากกรมประมง
4) คนต่างด้าวจัดทำทะเบียนประวัติหรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร (ตัด การตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออก ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเพิ่มหลักฐานอื่นที่สามารถใช้แทนบัตรประกันสุขภาพได้ เช่น ใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกกรณีโรงพยาบาล ไม่สามารถออกบัตรประกันสุขภาพให้ทันภายในกำหนดเวลาที่ต้องไปชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำงานในเรือประมงสำหรับคนต่างด้าว)
2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ... รวม 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อขอรับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มสีเหลือง) กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การจำแนกประเภทกลุ่มคนต่างด้าว |
เงื่อนไขการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ |
|
1. คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ที่ถือหนังสือเดินทางหรือใช้เอกสารอื่นที่ยังไม่หมดอายุโดยเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันยื่นขอรับหนังสือคนประจำเรือ และระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Overstay) ซึ่งได้รับการยกเว้นให้สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลได้ |
● ให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษภายใน 90 วันนับแต่ประกาศมีผลใช้บังคับเพื่อยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล จัดทำทะเบียนประวัติ และตรวจลงตรา |
|
2. คนต่างด้าวที่ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือไม่ทันภายในระยะเวลา ให้สามารถยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือได้ |
● ให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษภายใน 60 วัน นับแต่วันที่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ เพื่อดำเนินการยื่นขอหนังสือคนประจำเรือ |
|
3. คนต่างด้าวที่ได้ยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และได้รับหนังสือคนประจำเรือแล้ว (มีจำนวนประมาณ 6,000 คน) |
● ให้สามารถอยู่และทำงานในเรือประมงต่อไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย |
|
4. กำหนดให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (ไม่ Overstay และได้ไปดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว) สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือได้ |
● ให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษจนกว่าจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ แต่ต้องไม่เกิน 45 วัน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4087