สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 18:59
- Hits: 6431
สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน ตามที่ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
คณะรัฐมนตร์ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 เห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการและแผนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ถือเป็นภารกิจสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานตั้งงบประมาณรองรับให้เหมาะสม
คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เรื่อง การเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงคมนาคม กระทรวมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยทางถนนและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อยู่ระหว่างเดินทางกลับ และในปีต่อไปขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุลดลงได้มากยิ่งขึ้น
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 เสร็จเรียบร้อยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 (รวม 7 วัน)
จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ (ครั้ง) |
จำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) (คน) |
จำนวนผู้เสียชีวิต (ราย) |
2,288 |
2,307 |
284 |
การดำเนินงานช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566- 4 มกราคม 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนด ประกอบด้วย
1. การเกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง ลดลงร้อยละ 19.06 ผู้บาดเจ็บ (admit) 2,307 คน ลดลงร้อยละ 17.95 ผู้เสียชีวิต 284 ราย ลดลงร้อยละ 18.23
2. การเกิดอุบัติเหตุใหญ่ 25 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14
3. การเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 165 ราย ลดลงร้อยละ 15.19
4. ผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยงหลัก ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ลดลงร้อยละ 36.80ดื่มแล้วขับ ลดลงร้อยละ 27.59 ไม่สวมหมวกนิรภัย ลดลงร้อยละ 6.46 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยลดลงร้อยละ 55.88 และขับรถย้อนศร เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.43
จากการดำเนินงานช่วง 7 วัน พบว่า สถิติในภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ (admit และผู้เสียชีวิตลดลง และพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตลดลง อาทิ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และให้ความสำคัญในระดับพื้นที่ โดยดำเนินการมาตรการเชิงรุกให้ท้องที่และท้องถิ่น ร่วมกับอาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชนจัดตั้ง “ด่านชุมชน” “ด่านครอบครัว” และการเคาะประตูบ้าน เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของคนในพื้นที่ แต่เมื่อพิจารณา จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนเมื่อเทียบกับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 พบว่า พฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น และพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น คือ รถกระบะ รถเก๋ง และรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ถนนที่เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น คือ ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ถนนในเขตเมือง (เทศบาล) ถนนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลักษณะการชนโดยไม่มีคู่กรณี คนเดินเท้า และสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือ ช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี อายุ 20-29 ปี และอายุ 60-69 ปี รวมทั้งพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะที่ไม่มีใบขับขี่เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนตลอดทั้งปี โดยได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน ดังนี้
1. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมทางหลวงพิจารณาหาแนวทางนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมถนนสายหลักทุกเส้นทาง โดยจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ เครื่องตรวจจับความเร็ว และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกบูรณาการข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายให้เป็นเอกภาพ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการนำข้อมูลการกระทำความผิดไปใช้ประกอบการพิจารณาไม่จัดทำเอกสารที่ทางราชการออกให้ หรือไม่ต่อใบอนุญาตต่างๆ อาทิ ใบอนุญาตขับรถและหนังสือเดินทาง เป็นต้น
3. ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สามารถจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการบังคับใช้กฎหมายได้ อาทิ เครื่องตรวจจับความเร็ว และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น
4. ในระดับพื้นที่ให้ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน
5. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทยกับชาวต่างชาติ ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย อาทิ ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร ระเบียบหลักเกณฑ์ในการจัดทำใบขับขี่ และหลักการขับขี่ที่ปลอดภัย เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4081