ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 06 April 2024 18:52
- Hits: 6620
ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัยและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กผส. รายงานว่า
1. ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรซึ่งสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ1 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ จำนวน 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด (66.05 ล้านคน) ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดการณ์ว่าในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 60 ล้านคน นอกจากนี้ กลุ่มประชากรในวัยทำงานตอนปลายที่มีอายุตั้งแต่ 41 - 59 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 19.25 ล้านคน กำลังจะเข้ามาเป็นกลุ่มประชากรผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมากในอนาคตและมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว
2. จากสถานการณ์ข้างต้นคาดการณ์ใด้ถึงวิกฤตประชากรในอนาคตที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง รวมถึงจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดต่ำลง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรดังกล่าวจึงเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของสังคมไทยที่ต้องเผชิญในอนาคด ดังนี้ (1) ความท้าทายของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางการเงินการคลังของประเทศ (2) ความท้าทายต่อการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม (3) ความท้าทายต่อความยั่งยืนของระบบการเงินของครัวเรือน ตลาดการเงิน และระบบการคลังของประเทศและ (4) ความท้าทายต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ การได้รับการศึกษาการทำงาน ระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย
3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กผส. ได้ตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อ “ครอบครัวไทย” ซึ่งเป็นสถานบันทางสังคมที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุดในการสร้างและพัฒนาคน เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของสมาชิกหลากหลายวัยและจะมีความมั่นคงได้เมื่อสามารถรักษาสัมพันธภาพและการเกื้อหนุนที่ดีระหว่างวัย ครอบครัวที่มั่นคงจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างเสริมพลังและคุณค่าของประชากรทุกวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยแรงงาน วัยผู้สูงอายุ รวมทั้งคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสที่อาศัยอยู่ในครอบครัว จึงได้จัดทำ ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและผู้สูงวัย (ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ) เพื่อสื่อสารให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การดำเนินงานแบบองค์รวมเพื่อให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ได้มีการดำเนินการ เช่น (1) จัดประชุมเสวนาวิชาการในประเด็น “ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร” เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการเตรียมการรองรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (2) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทยผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เพื่อสื่อสารให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัยและพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบาย มาตรการและขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ทั้งนี้ กผส. ในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 25 มาตรการสำคัญเร่งด่วน สรุปได้ ดังนี้
มาตรการสำคัญเร่งด่วน |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
ข้อเสนอที่ 1 เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต |
||
1) การเพิ่มโอกาสและสร้างความตระหนักให้กับประชากรวัยทำงานพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน (ทั้งอุปสงค์และอุปทาน) 2) การส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน 3) การส่งเสริมการออม สร้างแรงจูงใจให้ประชากรในวัยทำงานออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ (ออมภาคบังคับ) 4) การส่งเสริมคุณภาพของประชากรในวัยทำงาน ด้วยการปรับสถานที่ทำงานให้เป็นสถานประกอบการที่คำนึงถึงความสุข และส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 5) มาตรการส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือการยกย่องทางสังคมให้แก่นายจ้างที่จัดสวัสดิการดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุให้แก่ลูกจ้าง การทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิงในการร่วมกันดูแลครอบครัว |
กระทรวงการคลัง (กค.) พม. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกองทุนการออมแห่งชาติ |
|
ข้อเสนอที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : เด็กน้อย ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ |
||
1) การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถานบันการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง 2) การดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 3) การมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่นชุมชนช่วยจัดการได้ 4) การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัต 5) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย |
พม. อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ศธ. สธ. และสำนักงาน ก.พ.ร. |
|
ข้อเสนอที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส |
||
1) การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ 2) การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Literacy) ให้ผู้สูงอายุ และลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้สูงอายุ 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น จัดระบบบริบาลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน โดยชุมชน ส่งเสริมให้มีการเกื้อหนุนและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวและชุมชน 4) การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชนที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การสัญจร และการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ 5) การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติเพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการอย่างครบวงจรกับผู้สูงอายุ |
พม. อว. ดศ. มท. รง. กระทรวงวัฒธรรม (วธ.) ศธ. และ สธ. |
|
ข้อเสนอที่ 4 เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าของคนพิการ2 |
|
|
1) การสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการตามศักยภาพและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับคนพิการ ตลอดจนเพิ่มการจ้างานคนพิการในทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมศักยภาพคนพิการและทำให้เกิดตลาดแรงงานสำหรับคนพิการ รวมทั้ง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมต่อการทำงาน 2) การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ครบถ้วนของคนพิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างทัศนคติที่เหมาะสมของชุมชนและครอบครัวในการอยู่ร่วมกันและดูแลคนพิการ เช่น ระบบการตรวจสอบสิทธิที่มีประสิทธิภาพ หน่วยบริการรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ การให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน 3) การป้องกันความพิการแต่กำเนิดและความพิการทุกช่วงวัย (Prevention) รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและทางใจ (Rehabilitation) 4) การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ เช่น ระบบขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช้หลักการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มวัย (Universal Design)3 รวมทั้งใช้ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการดำเนินชีวิต 5) การจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อประโยชน์ในการหางานและการจ้างงาน |
พม. อว. ดศ. มท. รง. วธ. ศธ. และ สธ. |
|
ข้อเสนอที่ 5 สร้างระบบนิเวศ (Eco-System) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว |
||
1) การพัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันในยามที่เผชิญกับวิกฤต 2) ชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย “ปลอดภัย ปลอดพิษ เป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อทุกคน” 3) บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงได้ อยู่อย่างปลอดภัย 4) การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียมสร้าง กลไกค้ำประกันเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ครอบครัวบนหลักการพอเพียงและมีวินัย เสริมสร้างความรู้ในการบริหารการเงินสำหรับครัวเรือน 5) การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากรในการหยุดทำร้ายธรรมชาติ ส่งเสริม Green Economy |
กค. พม. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มท. ศธ. สธ. และกระทรวงอุตสาหกรรม |
4. ประโยชน์ของข้อเสนอเชิงนโยบายฯ
4.1 มีการสื่อสารให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
4.2 มีการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัยโดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์
5. จะนำข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ไปสื่อสารและขับเคลื่อนในช่วงก่อน “วันแห่งครอบครัว” ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมบทบาทและความเข้มแข็งของครอบครัวไทยต่อไป
_________
1 พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้ “ผู้สูงอายุ” หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
2ผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนของคนพิการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด (จากร้อยละ 5.5 ในปี 60) และส่วนใหญ่ของคนพิการเป็นผู้สูงอายุ
3Universal Design หรือเรียกว่า อารยสถาปัตย์ คือ หลักการออกแบบสภาพแวดล้อมให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุคนปกติ ผู้พิการ โดยออกแบบเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นการทำให้ไม่มีอุปสรรคในการใช้งาน สร้างความเท่าเทียม ในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ ถือเป็นหลักการพัฒนาพื้นที่ให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 2 เมษายน 2567
4080