ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การนำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมาพัฒนาการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 02:19
- Hits: 7702
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การนำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมาพัฒนาการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การนำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมาพัฒนาการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การนำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมาพัฒนาการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าเป้าหมายของการพัฒนามหาวิทยาลัยคือการพัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนาชาติ เมื่อมหาวิทยาลัยพัฒนาแต่ละตัวชี้วัดให้ดีขึ้น มหาวิทยาลัยก็จะได้คะแนนในการจัดอันดับมากขึ้นจึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ (1) การวัดผลการพัฒนามหาวิทยาลัย ควรใช้วิธีการประเมินแบบ U - Multirank1 (2) ควรกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในแต่ละด้าน (3) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) สะท้อนภาพรวมของมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ควรมีการจัดอันดับการแข่งขันภายในประเทศด้วย (4) ควรมีการนำผลการจัดอันดับมาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละหลักเกณฑ์ (5) การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ควรตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติในด้านต่างๆ (6) ควรผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาเป็นกลไกสำคัญตามมาตรา 45 (3) ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และ (7) ควรผลักดันระบบคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา (Credit Bank)
2. คณะรัฐมนตรี (31 ตุลาคม 2566) ได้มีมติให้ อว. รับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
อว. ได้พิจารณาตามข้อ 2. แล้ว โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และได้มีความเห็นเพิ่มเติมโดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. การวัดผลการพัฒนามหาวิทยาลัย ควรใช้วิธีการประเมินแบบ U - Multirank คือ มีการแบ่งหมวดหมู่การประเมิน แล้วมีเกณฑ์ให้กับแต่ละตัวชี้วัด โดยมหาวิทยาลัยสามารถดูหมวดหมู่ของหน่วยงานที่จัดอันดับเป็นตัวอย่าง แล้วอาจจะเพิ่มหมวดหมู่ที่มหาวิทยาลัยให้ความสนใจ เช่น หมวดหมู่การพัฒนาด้านสังคม ฯลฯ |
- อว. ได้ดำเนินโครงการ Reinvention University เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตอบโจทย์ความต้องการของประเทศตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย โดยได้มีการประยุกต์ใช้แนวคิดการประเมินในรูปแบบ U - Multirank เพื่อกำหนดกลุ่มสถาบัน อุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มตามศักยภาพ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือจุดเน้นของมหาวิทยาลัย |
|
2. เมื่อมหาวิทยาลัยมีหมวดหมู่ที่ต้องการพัฒนาแล้วต่อไปก็ต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัดในแต่ละด้าน โดยมหาวิทยาลัยสามารถดูเกณฑ์ หรือตัวชี้วัดจากหน่วยงานจัดอันดับจากหลายหน่วยงานประกอบกันได้ รวมทั้งตั้งตัวชี้วัดหรือเกณฑ์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเพิ่มเติมได้เอง |
- การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อวัดระดับการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนามหาวิทยาลัยในแต่ละหมวดหมู่การประเมิน จะต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์ของหมวดหมู่ เชื่อถือได้ สามารถวัดผลได้จริงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงสอดรับกับทิศทาง การพัฒนามหาวิทยาลัยและการพัฒนาประเทศโดยสามารถพิจารณากำหนดจากตัวชี้วัดหรือเกณฑ์ที่หน่วยงานจัดอันดับที่เป็นที่ยอมรับ และกำหนดขึ้นเองตามยุทธศาสตร์หรือจุดเน้นการพัฒนาของมหาวิทยาลัย โดยอาจนำแนวคิดหรือเกณฑ์ของหน่วยงานจัดอันดับมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วยและควรกำหนดค่าเป้าหมายที่มีความท้าทายต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย |
|
3. การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) ถือเป็นภาพสะท้อนต่อภาพรวมของมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยควรปรับตัวให้มีภาพลักษณ์ที่มีความเป็นนานาชาติและความเป็นสากลจะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้นและควรมีการจัดอันดับการแข่งขันภายในประเทศด้วย โดยอาจใช้ตัวชี้วัดมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับพันธกิจในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศชาติ โดย อว. ในฐานะผู้รับผิดชอบควรมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่แสดงถึงความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในด้านนโยบายแนวทางการขับเคลื่อน และด้านการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและการผลิตกำลังคน |
- มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวให้มีความเป็นนานาชาติในมิติต่างๆ และสร้างการยอมรับในระดับสากล โดย อว. ได้กำหนดตัวชี้วัดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกไว้ในแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 และยกร่างแผนการดำเนินงานการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับเครือข่ายนานาชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเป็นสากลให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการและการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยและการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (QS World University Rankings) โดยเชิญบุคลากรของ QS World University Rankings ในฐานะผู้ที่ออกระเบียบและหลักเกณฑ์มาเป็นวิทยากร เพื่อจะได้ทราบแนวปฏิบัติในการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยได้รับการจัดอันดับ ที่ดีขึ้นต่อไป |
|
4. ควรมีการนำผลการจัดอันดับมาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละหลักเกณฑ์ และกำหนดวิธีการหรือระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาตามหลักเกณฑ์ นอกจากนั้น ควรตั้งเป้าหมายระยะสั้นในการแข่งขันกับกลุ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นอันดับแรก และพัฒนาต่อยอดไปสู่การแข่งขันในระดับโลกต่อไปในระยะยาว อีกทั้ง ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้มีการผลักดันเชิงบวกต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้วย |
- การวิเคราะห์ผลการจัดอันดับและพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยจากหลักเกณฑ์หรือปัจจัยที่มีผลต่อการจัดอันดับดังกล่าว เป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินการตามภารกิจของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น และได้มีการกำหนดตัวชี้วัดจากสถาบันจัดอันดับระดับโลกที่เป็นที่ยอมรับ เช่น World University Rankings, IMD, GI และ WEF เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการอุดมศึกษาในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานปลัด อว.ได้เปิดเวทีให้สถาบันอุดมศึกษารับทราบข้อมูลผลการประเมิน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับทราบศักยภาพและสถานะของสถาบัน และได้สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นผ่านโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ โครงการ Reinventing University การสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นต้น |
|
5. การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ควรตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติในด้านต่างๆ และมหาวิทยาลัยที่เข้าสู่การจัดกลุ่มในแต่ละกลุ่มควรเลือกเฉพาะบางสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยมากกว่าการจัดกลุ่มให้ทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญและความหลากหลาย |
- การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัย โดยพิจารณาจากจุดมุ่งหมาย พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และการดำเนินการที่ผ่านมา เป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยสามารถพิจารณาการจัดกลุ่มทั้งมหาวิทยาลัยหรือเฉพาะคณะสาขาวิชาที่มีศักยภาพซึ่งสอดคล้องตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 |
|
6. ควรผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาเป็นกลไกสำคัญตามมาตรา 45 (3) ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาลดอุปสรรคด้านงบประมาณ รวมถึงช่วยทำให้บรรลุผลในการดำเนินงานตามแผนและเป้าหมายให้สะดวกขึ้นตามภารกิจ |
- อว. เร่งผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอพระราชบัญญัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งกองทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการปรับบทบาทระบบการอุดมศึกษาไปสู่ระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ สนับสนุนการพัฒนาระบบการเรียนรู้ไปสู่การตอบสนองการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบอุดมศึกษาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruptive Change) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
|
7. ควรผลักดันระบบคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา (Credit Bank) ซึ่งเป็นระบบและกลไกในการเทียบโอนความรู้ความสามารถและหรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล มาเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา |
- ได้มีประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 และประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเทียบโอนหน่วยกิตและผลการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ซึ่งออกตามความในกฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 โดยได้สนับสนุนระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System: NCBS) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สำหรับทุกช่วงวัยให้ผู้เรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพเป็นนักศึกษาสามารถนำผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้จากวิชาและหลักสูตรต่างๆ หรือนำประสบการณ์ทำงานมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ แล้วสามารถนำมาขอรับปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยโดยได้ดำเนินการนำร่องกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี |
__________________
1 U -Multirank คือ ตัวชี้วัดเพื่อประเมินมหาวิทยาลัย จากผลงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการสอนและการเรียนรู้ (Teaching and Learning), ด้านการวิจัย (Research), ด้านการถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer), ด้านความเป็นนานาชาติ (International Orientation) และด้านการมีส่วนร่วมในภูมิภาค (Regional Engagement)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3942