ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 02:16
- Hits: 7469
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินเป็นพลังการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีหน่วยงานหลักทำหน้าที่ขับเคลื่อนแนวคิดภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วสรุปผลการพิจารณาว่า การจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล ค้นคว้า เผยแพร่ ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินรวมทั้งทำหน้าที่บูรณาการขับเคลื่อนงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อวางกรอบนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มีภารกิจดังกล่าว เช่น กระทรวงวัฒนธรรม (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยภาษาและนวัตกรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนของภารกิจ จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้งสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดินเป็นองค์การมหาชน อย่างไรก็ตาม ควรจัดตั้งสถาบันฯ ให้เป็นหนึ่งในสถาบันภายใต้วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือ “ธัชชา” ร่วมกับสถาบันที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันเศษฐกิจพอเพียง สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นเนื่องจากบทบาทและพันธกิจของธัชชาเป็นไปในลักษณะเดียวกับบทบาทของสถาบันฯ เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณในระยะยาวอันเนื่องมาจากการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3941