ขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 March 2024 00:33
- Hits: 7093
ขอความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee
2. มอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทส. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญให้ ทส. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
[สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals : CMS) มีกำหนดจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2567 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะต้องจัดส่งร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ที่ลงนามแล้วให้สำนักงานเลขาธิการ CMS เพื่อมีหนังสือตอบกลับการเป็นเจ้าภาพร่วมก่อนกำหนดการประชุมดังกล่าว]
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ทส. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และจัดการเต่าทะเล และแหล่งที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้* (Memorandum of Understanding on the Conservation and Management of Marine Turtles and Their Habitats of the Indian Ocean and South-Fast Asia : IOSEA Marine Turtle MOU) (บันทึกความเข้าใจฯ) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองอนุรักษ์ เพิ่มจำนวน และฟื้นฟูเต่าทะเล และแหล่งที่อยู่อาศัย บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงลักษณะทางสภาพแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของรัฐที่ลงนาม รวมถึงการอนุวัตพันธกรณีของแผนการอนุรักษ์และการจัดการที่รวมถึงการคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าทะเล การลดภัยคุกคาม การวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยประสานงานหลัก
2. ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา (Advisory Committee : AC) เพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ เทคนิค และกฎหมาย แก่รัฐผู้ลงนาม ในการดำเนินงานอนุรักษ์และการจัดการเต่าทะเล และแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าทะเล ซึ่งที่ผ่านมาการประชุม Meeting of the Advisory Committee ถูกจัดไปแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดเมื่อวันที่ 15 - 16 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
3. การประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee จะเป็นการประชุมของกรรมการที่ปรึกษา และผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อหารือ ทบทวน และพิจารณา การดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงแผนการดำเนินงานของบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างปี 2567 - 2571 โดยมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการที่ปรึกษา (2) ผู้ประสานงานหลักในระดับอนุภูมิภาค (3) ประธานหรือรองประธานกลุ่ม Marine Turtle Task Force (4) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (5) ผู้สังเกตการณ์ และ (6) เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ CMS รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ราย
4. สำหรับการดำเนินการจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee สำนักงานเลขาธิการ CMS ได้มีหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Letters) การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยขอให้ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพในการประชุม ซึ่งหนังสือแลกเปลี่ยนฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดชอบของประเทศเจ้าภาพและสำนักงานเลขาธิการ CMS สรุปได้ ดังนี้
1) สำนักงานเลขาธิการ CMS จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม
2) ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขอรับการตรวจลงตรา (visa) สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
3) ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ จะให้ความคุ้มครองและรับผิดชอบด้านเอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ตามอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ
4) ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ จะยอมรับและปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อเกิดข้อพิพาทใดๆ ที่เกี่ยวกับการตีความหรือการดำเนินการตามหนังสือแลกเปลี่ยนฯ
5. การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวจะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะมีบทบาทนำ และแสดงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และจัดการเต่าทะเลในระดับภูมิภาคและที่อื่นๆ เป็นการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือกับนานาประเทศ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศไทย โดยการเข้าถึงและขยายเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และความร่วมมือในการจัดการกับความท้าทายในการอนุรักษ์เต่าทะเล และแหล่งที่อยู่อาศัย ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
6. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] ในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติรับทราบการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุม 10th Meeting of the Advisory Committee และมอบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
_________________________________
*ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 มีนาคม 2567
3924