ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐเช็กว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 March 2024 11:28
- Hits: 7130
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐเช็กว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทย กับ กห. แห่งสาธารณรัฐเช็กว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ)
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
3. หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
[รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเช็ก (นางสาวยานา เชร์โนโควา) มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ณ ศาลาว่าการกลาโหม]
สาระสำคัญของเรื่อง
กห. รายงานว่า
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 มิถุนายน 2556) เห็นชอบให้ กห. จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง กห. แห่งราชอาณาจักรไทยกับ กห. สาธารณรัฐเช็ก (Memorandum of Understanding between the Ministry of Defence of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Defence of the Czech Republic on Mutual Cooperation) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ (ซึ่งได้สิ้นสุดการมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566)
2. สาธารณรัฐเช็กได้มีหนังสือเสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่มาให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อพิจารณาถ้อยคำและสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ จนได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่มีสาระสำคัญคงเดิม โดยมีการปรับเพิ่มในส่วนของประเด็นขอบเขตความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร และระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ จากเดิม มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และจะขยายอัตโนมัติเป็นเวลา 5 ปี เป็น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ และหลักการ |
เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารระหว่างกัน โดยสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่าย และหลักการของความเสมอภาค ต่างตอบแทน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิและพันธะภายใต้กฎหมายภายในและระหว่างประเทศ และจะถูกนำไปปฏิบัติโดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในและระเบียบของแต่ละประเทศ |
|
ขอบเขต และ สาขาความร่วมมือ |
(1) จะร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมหารือ/เชิงปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การฝึกอบรมและการฝึกในสาขาต่างๆ ดังนี้ (1.1) นโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (1.2) การปฏิบัติการรักษาสันติภาพและมนุษยธรรม (1.3) ความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร (1.4) ประวัติศาสตร์ทางทหาร (1.5) การฝึกและศึกษาทางทหาร (2) ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจตกลงที่จะร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 1 หากความร่วมมือดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ |
|
ความร่วมมือ ด้านเทคนิคทางทหาร |
(1) การส่งเสริมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารในด้านต่างๆ ดังนี้ (1.1) การจัดหา การใช้งาน การซ่อมแซม การซ่อมคืนสภาพ การบำรุงรักษา และการพัฒนาให้ทันสมัยของสิ่งอุปกรณ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (1.2) การจัดตั้งสายการผลิตร่วม และ/หรือการผลิตภายใต้ใบอนุญาต สำหรับสิ่งอุปกรณ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (1.3) การวิจัยและพัฒนาสิ่งอุปกรณ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (1.4) การเตรียมความพร้อมและการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่เทคนิค (2) ความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารจะถูกดำเนินการผ่านความตกลงระหว่างรัฐบาล หรือสัญญาเฉพาะระหว่างหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจจากทั้งสองประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล (3) การดำเนินความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารอาจจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ จากหน่วยงานที่มีอำนาจของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย (เช่น ใบอนุญาตส่งออก/นำเข้า) เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องของผู้เข้าร่วม |
|
ค่าใช้จ่าย |
ผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองซึ่งเกี่ยวข้องกับความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ หากมิได้ตกลงเป็นอย่างอื่น |
|
ผลบังคับใช้ และการแก้ไข |
(1) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามและอาจแก้ไขได้ทุกเวลา โดยความเห็นชอบร่วมกัน (2) บันทึกความเข้าใจฯ อาจถูกทบทวนโดยผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายในทุก 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (3) ผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจแจ้งอีกฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความประสงค์ที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ โดยการยกเลิกจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการความร่วมมือ และกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ที่กำลังดำเนินการและยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในขณะที่บันทึกความเข้าใจฯ ถูกยกเลิก |
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มิได้มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับส่วนที่ 1 วรรค 2 ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า บันทึกความเข้าใจนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใดๆ ภายใต้กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 มีนาคม 2567
3733