ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาองค์ความรู้และแนวคิดจากประสบการณ์ของต่างประเทศ : สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลี ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 March 2024 00:57
- Hits: 7437
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาองค์ความรู้และแนวคิดจากประสบการณ์ของต่างประเทศ : สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลี ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาองค์ความรู้และแนวคิดจากประสบการณ์ของต่างประเทศ : สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลี ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาองค์ความรู้และแนวคิดจากประสบการณ์ของต่างประเทศ : สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐเกาหลีของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษา รวม 7ประเด็น ได้แก่ (1) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (2) การศึกษาฟรี มีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน (3) การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน (4) การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญ (5) การปฏิรูปครู (6) การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียนและ (7) การศึกษาเพื่อลดความยากจนและเหลื่อมล้ำต้องเป็นไปในทิศทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในขณะนั้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศธ. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปคน ให้มีความเป็นพลเมือง การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะ และมีความรับผิดชอบที่พร้อมพอสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกมิติของสังคม |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีความเห็นว่า มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษาเพื่อสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากำลังคน เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมีพลเมืองที่มีคุณภาพ จึงเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นพลเมืองคุณภาพได้ โดยผ่านการพัฒนาและบูรณาการหลักสูตร และจะต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษาต่างๆ เช่น เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอนุปริญญา หรือระดับปริญญาตรี และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรควรดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) โดยดำเนินการวิเคราะห์และเชื่อมโยงหลักสูตรที่มี เช่น วิชาสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาหน้าที่พลเมือง และหลักสูตรโตไปไม่โกง เป็นต้น และส่งเสริมให้มีวิชาทักษะ เพื่อรองรับกับตลาดแรงงาน รวมทั้งบูรณาการกิจกรรมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง สำหรับผู้เรียนในระบบและการศึกษานอกระบบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน |
|
2. การศึกษาฟรี มีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน รัฐต้องสร้างกลไกเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน |
ควรเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและข้อมูลการอุดหนุนงบประมาณของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐเกาหลี ในรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อพิจารณาศึกษาว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรบ้าง เช่น การอุดหนุนโรงเรียนที่มีลักษณะแตกต่างกันตามบริบทการจัดการศึกษา ระบบบัญชี และการจัดทำงบประมาณ |
|
3. การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน ช่วยเหลือกลุ่มคนหรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ ให้พัฒนาขึ้นมาให้ทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นๆ |
ควรเพิ่มติมเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน ในรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการศึกษา เช่น การให้มีมาตรฐานขั้นต่ำด้านทรัพยากรทางการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้มาตรฐานระหว่างโรงเรียนชนบทและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น การส่งเสริมบุคลากร และการสร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เหมาะกับการเรียนรู้ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน |
|
4. การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญควรจัดการศึกษาให้เป็นไปตามสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอ และได้เรียนตามภูมิสังคมของตนเอง และยึดโยงกับชุมชนของตน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้ |
ควรปรับโครงสร้างหลักสูตรและเวลาเรียนที่เอื้อให้เปิดรายวิชาเพิ่มเติม หรือใช้หลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นได้ |
|
5. การปฏิรูปครู ปฏิรูปการศึกษาในการผลิตสร้างครูทั้งระบบ เนื่องจากครูคือต้นทางและต้นแบบของเด็กๆ และเยาวชนในระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็ก |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
|
6. การพัฒนาการเรียนการสอน เสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน |
ควรสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน อาทิ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เพียงพอและความพร้อมของเทคโนโลยีในสถานศึกษา รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับสถานศึกษา โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับครู รวมถึงเพิ่มการจัดการเรียนการสอนผ่านทีวีดิจิทัลให้แก่สถานศึกษาขนาดเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารหรืออาจถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้อยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสถานศึกษานั้นต่อไป |
|
7. การศึกษาเพื่อลดความยากจนและเหลื่อมล้ำต้องเป็นไปในทิศทางการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้ และแก้ปัญหาตนเองได้ พึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้ไม่เป็นภาระของสังคม |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (รองนายกรัฐมนตรี) 12 มีนาคม 2567
3484