แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 March 2024 00:24
- Hits: 7541
แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำข้อเสนอ “แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570” โดยได้ควบรวมสาระสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของ (1) แนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล และ (2) แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563-2565 ที่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้ส่วนราชการมีแนวปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ที่เสนอมาในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ภายใต้มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ของมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570)
2. แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ผ่านความเห็นชอบจาก ก.พ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว และสำนักงาน ก.พ. ได้จัดการสัมมนาส่วนราชการเพื่อชี้แจงการเตรียมการจัดทำนโยบาย หรือทิศทางการพัฒนาบุคลากรการบริหารจัดการงบประมาณ บุคลากรหรือทรัพยากรต่างๆ ที่รองรับการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้วในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้ครอบคลุมกำหนดระยะเวลาตามแนวทางการพัฒนบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ที่ ก.พ. มีมติเห็นชอบ
3. แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563-2565 จึงมีหลักการดำเนินการในภาพรวมไม่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีการปรับปรุงประเด็นการพัฒนา โดยรวมประเด็นการพัฒนากรอบทักษะ (Skillsets) และกรอบความคิด (Mindset) เข้าด้วยกัน (ประเด็นการพัฒนาที่ 2 ในแนวทางที่เสนอมานี้) และเพิ่มเติมประเด็นการพัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านดิจิทัล (ประเด็นการพัฒนาที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการผนวกรวมแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลฉบับเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
- หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาองค์กร เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาของบุคลากร การส่งเสริมการดำเนินการในการบริหารและพัฒนาบุคลากรอย่างเชื่อมโยง และการยกระดับกลไกการดำเนินการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างเป็นระบบ
- บุคลากรภาครัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติในการวางแผนการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน โดยมุ่งเน้นให้มีการเรียนรู้และพัฒนา การประเมินและปรับปรุงการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
2. เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ
- ประชาชนและผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติราชการ
- หน่วยงานภาครัฐมีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และการสร้างสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี
- บุคลากรภาครัฐมีการพัฒนาตัวเองและสามารถขับเคลื่อนภารกิจ พัฒนาองค์กร และตอบสนองความต้องการของประชาชน
3. หลักการและแนวคิด
- การพัฒนาที่มีเป้าหมายชัดเจนและตอบสนองความต้องการของประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย
- การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้และการสร้างความสุขในการปฏิบัติงาน
- การพัฒนาที่มีความครอบคลุมบุคลากรทุกระดับ
4. กลุ่มเป้าหมาย
- หน่วยงานของรัฐ : ครอบคลุมส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม สำหรับหน่วยงานในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหารอาจพิจารณานำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้โดยอนุโลมตามที่เห็นสมควร
- บุคลากรภาครัฐ : ข้าราชการพลเรือน พนักงานราชการ และลูกจ้างของส่วนราชการ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามบทบาทหน้าที่ ประกอบด้วย (1) บุคลากรแรกบรรจุ (2) บุคลากรที่มีประสบการณ์ (3) บุคลากรที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน (4) บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ และ (5) บุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร
ทั้งนี้ ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐประเภทอื่น หน่วยงานสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้โดยอนุโลมตามความเหมาะสม
5. ระยะเวลาดำเนินการ
ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 หรือจนกว่าจะออกแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฉบับใหม่มาใช้แทน
6. กลไกการดำเนินการ
กำหนดกลไกการดำเนินการไว้ 2 ลักษณะ ดังนี้
- ส่วนราชการดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบของฝ่ายบริหาร
- ส่วนราชการดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม (อ.ก.พ. กรม)
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารงานของส่วนราชการ และให้เป็นดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ
7. ประเด็นการพัฒนา
แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดประเด็นการพัฒนา จำนวน 3 ประเด็นโดยมีการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการ ดังนี้
ประเด็นการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา
เป้าหมาย : หน่วยงานของรัฐสามารถสร้างและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นองค์กรที่มีความปรารถนาในการที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อการพัฒนา การทำงาน มีการแบ่งปันความคิดในการทำงาน มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม มีการทุ่มเททรัพยากรเพื่อลงทุนให้บุคลากรทุกระดับเกิดการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างค่านิยมเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร
กลยุทธ์ :
กลยุทธ์ที่ 1 การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยการพัฒนากลไก เครื่องมือ หรือระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนา เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้งานง่ายเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง
กลยุทธ์ที่ 2 การเป็นองค์กรแห่งการตื่นรู้และปรับตัว โดยการกำหนดนโยบาย ทิศทางในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วิเคราะห์ปัจจัยสำเร็จ ความท้าทาย เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรตื่นตัวในการปฏิบัติงานที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ
กลยุทธ์ที่ 3 การเป็นองค์กรแห่งการมีพฤติกรรมที่ดี โดยการกำหนดมาตรการ หรือกลไกเพื่อเสริมสร้างและรักษาวินัย คุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การยึดถือมาตรฐานจริยธรรมที่ ก.พ. กำหนดเป็นมาตรฐาน/แนวปฏิบัติให้บุคลากรมีความประพฤติดีเป็นมาตรฐานเดียวกัน
กลยุทธ์ที่ 4 การเป็นองค์กรแห่งการมีส่วนร่วม โดยการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสมดุลคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การกำหนดให้มีบุคลากรจากกลุ่มที่แตกต่างเข้าร่วมการคิดการตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงาน
การขับเคลื่อนการดำเนินการ :
(1) การส่งเสริมการปฏิบัติงาน โดยวางระบบ รูปแบบ วิธีการทำงานที่ตอบสนองต่อภารกิจองค์กรและกลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกกลุ่มในการขับเคลื่อนภารกิจ และการสร้างความเชื่อมโยงในการปฏิบัติงานร่วมกัน
(2) การพัฒนาบุคลากร โดยการสร้างสภาพแวดล้อมองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนา การวางแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ การติดตาม ประเมินและรายงานผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
(3) การส่งเสริมความสุขและคุณภาพชีวิต โดยสร้างความสุขในการทำงานเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
ประเด็นการพัฒนาที่ 2 การพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย : บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏบัติงานที่ท้าทายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. กรอบความคิด (Mindset) ที่กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนา 4 กรอบความคิด ดังนี้
|
||
กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) หมายถึง ทัศนคติแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า เชื่อในศักยภาพของคนและเชื่อในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองได้เสมอ
|
กรอบความคิดแบบมุ่งเน้นส่วนรวม (Outward Mindset) หมายถึง ทัศนคติที่มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นและให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าของตนเอง |
|
กรอบความคิดแบบโลกาภิวัฒน์ (Global Mindset) หมายถึง ทัศนคติที่เปิดรับและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและความหลากหลายในมิติต่างๆ |
กรอบความคิดในการทำงานยุคดิจิทัล (Digital Mindset) หมายถึง ทัศนคติที่ช่วยให้บุคคลเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้และดึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการใช้ชีวิต ส่งผลให้มีความสนใจใคร่รู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เข้าใจรูปแบบและทิศทางของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Digital Landscape) สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในบริบทดิจิทัล |
|
2. ทักษะ (Skills) ครอบคลุมขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองทั้งความคิดและพฤติกรรมการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนาผู้นำ ดังนี้
|
||
ทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) เช่น การคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ การคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ที่จะรักเรียน
|
ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Skills) เช่น การตระหนักถึงความสามารถของตนเอง การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และการทำงานร่วมกันและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ |
|
ทักษะการปฏิบัติ (Practical Skills) เช่น ทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และทักษะด้านดิจิทัล (รายละเอียดทักษะดิจิทัลอยู่ในประเด็นการพัฒนาที่ 3) |
ทักษะด้านภาวะผู้นำ (Leadership Skills) เช่น การยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ การอำนวยและส่งเสริมให้เกิดบูรณาการในการทำงานและความร่วมมืออย่างเต็มที่ การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติและผลลัพธ์ |
กลยุทธ์ :
กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development Plan: HRD Plan) ที่เชื่อมโยงกับแผนบริหารกำลังคนของส่วนราซการ โดยพิจารณาเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เข้ากับภารกิจหลักของส่วนราชการและทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจที่ท้าทาย
กลยุทธ์ที่ 2 กำหนดเส้นทางการพัฒนา (Development Roadmap) ของบุคลากรภาครัฐ ทุกระดับที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานในแต่ละระดับตำแหน่งให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดทำและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของบุคลากรอย่างทั่วถึง
กลยุทธ์ที่ 3 กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) ที่เชื่อมโยงกับผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกระดับ และสร้างความพร้อมในด้านความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และภาวะผู้นำของบุคลากรเพื่อสนับสนุนเส้นทางความก้าวหน้าทางราชการ
การขับเคลื่อนการดำเนินการ :
(1) การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำคัญในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาบุคลากรและการกำหนดเส้นทางการพัฒนาข้าราชการของส่วนราชการ
(2) การบริหารจัดการเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณที่สามารถพัฒนาบุคลากรได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยส่วนราชการวิเคราะห์แนวโน้มและความต้องการในการพัฒนาบุคลากรเพื่อวางแผนในการพัฒนาที่ครอบคุลมทุกกลุ่มเป้าหมาย เชื่อมโยงถึงการกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม
(3) การดำเนินการเพื่อพัฒนาบุคลากร/ตนเอง โดยส่วนราชการกำหนดให้การพัฒนาตนเองเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคน
ประเด็นการพัฒนาที่ 3 การพัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล
เป้าหมาย : บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลและตอบสนองความต้องการของประชาชน ดังนี้
(1) กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาตามการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1.1) ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Information Technology: IT) และ (1.2) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรง (Non-IT)
(2) กรอบการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ประกอบด้วย 7 ทักษะ ได้แก่ (2.1) ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (2.2) การปฏิบัติตามและใช้กฎหมายด้านดิจิทัล (2.3) ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล (2.4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนางาน (2.5) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการ (2.6) การใช้ประโยชน์และการใช้ข้อมูลร่วมกัน และ (2.7) ความมั่นคงปลอดภัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
กลยุทธ์ :
กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดกรอบการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลตามภารกิจและการนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาเชิงปฏิบัติ
กลยุทธ์ที่ 2 กำหนดบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของส่วนราชการในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนากลไกและเครื่องมือในการดำเนินการ
กลยุทธ์ที่ 3 ติดตาม ประเมินผลการพัฒนาทักษะดิจิทัลในมิติการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและการปฏิบัติงาน และผลการนำทักษะด้านดิจิทัลไปใช้ประโยชน์
การขับเคลื่อนการดำเนินการ :
(1) การวิเคราะห์ภารกิจ และกำหนดประเด็นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อให้สามารถวางแผนการพัฒนาได้ตรงกับความต้องการและประโยชน์ในการนำไปใช้
(2) การวางแผนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้การพัฒนามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงและเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มที่
(3) การติดตามและประเมินผลการพัฒนาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมศักยภาพบุคลากรและเพื่อปรับปรุงต่อยอดการพัฒนาต่อไป
8. การขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาฯ ไปสู่การปฏิบัติ
กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ เช่น
- บุคลากรภาครัฐ : ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้ความรู้ ทักษะที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานควบคู่กัน รวมทั้งวางแผนความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานหรือการพัฒนาตนเอง
- ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ : ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการพัฒนา โดยมอบหมายงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบและงานที่ท้าทายให้ช้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และให้คำแนะนำในการพัฒนาตนเองของบุคลากร
- ผู้บริหารส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐ : กำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในระดับองค์กรให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุไว้ตามแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และพันธกิจของหน่วยงาน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้แรงจูงใจแก่บุคลากร และกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- สำนักงาน ก.พ. : สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เช่น กำหนดกรอบหลักเกณฑ์และวิธีการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรภาครัฐแต่ละระดับ และพัฒนาระบบ/(ครื่องมือ/กลไกที่สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากร
- ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล [ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และสำนักงาน ก.พ.] : สนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้งในระดับองค์กรและบุคคล ดูแล พัฒนาและให้การรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรักษามาตรฐานการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
9. ตัวชี้วัดการดำเนินการ
- ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เช่น (1) ร้อยละของหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และยุทธศาสตร์ขององค์กร (2) ร้อยละของบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากรอบความคิดและทักษะให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและทักษะด้านดิจิทัล (3) จำนวนนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนงาน/การให้บริการ e-Service
- สำนักงาน ก.พ. เช่น (1) ระดับความสำเร็จของการพัฒนา นโยบาย/หลักเกณฑ์/ระบบ/เครื่องมือ/กลไกที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ (2) ระดับความสำเร็จในการส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 และยุทธศาสตร์องค์กร
10. การติดตามและประเมินผล
สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากร ปีละ 1 ครั้ง โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการพัฒนาบุคลากรในแต่ละปีงบประมาณที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ณ วันที่ 30 กันยายน ของปีงบประมาณนั้นๆ ส่งให้สำนักงาน ก.พ. ภายในเดือนธันวาคมของปีงบประมาณถัดไป โดยสำนักงาน ก.พ. จะประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากรในภาพรวม เพื่อรายงานต่อคณะอนุกรรมการวิสามัญ (อ.ก.พ. วิสามัญ) เกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนา/ก.พ. และเมื่อครบระยะเวลาการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ให้ประเมินและจัดทำรายงานผลการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฉบับใหม่เสนอต่อ ก.พ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (รองนายกรัฐมนตรี) 12 มีนาคม 2567
3481